กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--syllable
เราเคยสงสัยหรือตั้งคำถามไหม ว่าสวนผลไม้มากมายที่เราเห็นในประเทศของเรานั้นชิ้นส่วนอื่นๆ นอกจากตัวผลไม้เองแล้ว ส่วนอื่นๆ ที่เหลือหายไปไหน มีการจัดการอย่างไร
ในแต่ละปี ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก เกิดของเสียและวัสดุเหลือใช้จำนวนมหาศาลจากการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นกะลามะพร้าว ชานอ้อย เปลือกสับปะรด และอื่นๆ อีกมาก นั่นเป็นประเด็นหนึ่งซึ่งจุดประกายให้เกิดโครงการพัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล (Design from Waste of Agriculture) ริเริ่มโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีชื่อโครงการโดยย่อที่สวยงามว่า DEWA
¨DEWA¨ เป็นหนึ่งในโซนนิทรรศการที่น่าจับตามองของงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้านครั้งที่ 40 หรืองาน BIG+BIH October 2015 จัดแสดงในโทนสีขาวสะอาดตา นำเสนอหลากหลายผลิตภัณฑ์จากขี้เลื่อย ยางพารา ใยสับปะรด ชานอ้อย มันสำปะหลัง กากจากต้นหม่อน ฟางข้าว กากชาและกาแฟ เศษแกลบยางจากไม้ยาง อาทิ กระดาษสา บรรจุภัณฑ์อาหาร กรอบรูป และ Stationery
ในงาน BIG+BIH ที่ไบเทค บางนา ในวันที่ 19-23 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้ร่วมงานจะได้ชมงานออกแบบและผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากเปลือกทุเรียนภายใต้โครงการ DEWA ภายในบูธที่มีทั้งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ พร้อมองค์ความรู้และข้อมูลของกระบวนการต่างๆ กว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แบบที่เห็น
อานนท์ ไพโรจน์ ดีไซเนอร์ผู้ดูแลโครงการฯ บอกว่า "หน้าที่ของบูธ DEWA คือให้ความรู้ทำให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อสิ่งรอบตัว เช่นหากมีผู้ประกอบการมาดู หรือคนที่มีสวนเกษตรมาดู
ผมอยากให้เขากลับไปตั้งคำถามว่า อย่างนี้สวนเกษตรของเราน่าจะทำอะไรได้ แม้กระทั่งธุรกิจประมงก็ตาม การฝังของเสียหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรลงดินก็เป็นการเสียสตางค์ การเผาทำลายก็เกิดปัญหามลพิษ ทำไมเราไม่มาเปลี่ยนตรงนั้นเป็นกำไร"
อานนท์บอกว่า อะไรทุกอย่างในโลกนี้ที่มีไฟเบอร์ สามารถนำมาทำเป็นกระดาษได้ กระดาษนั้นๆ จะมีคุณสมบัติต่างกันตามแต่ไฟเบอร์แต่ละสายพันธุ์ การผสมผสานหลายวัสดุอาจช่วยให้กระดาษแข็งแรงขึ้น หรือทำให้พื้นผิวมันเปลี่ยนไปเกิดพื้นผิวที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ กระดาษเหล่านี้นำไปเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบและตกแต่งได้มากมาย ตั้งแต่พาร์ดิชั่นกั้นห้อง โคมไฟ ไปจนถึงแพกเกจจิ้งผลิตภัณฑ์
แทนที่จะแข่งกันในกลุ่มสินค้าเดิม การนำเสนอในเรื่องของวัสดุใหม่ๆ นั้นเกิดมูลค่ามหาศาล หากสามารถจะผลิตผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้เหล่านี้แล้วนำไปใช้ในอุตสาหกรรมใหญ่ได้ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร นั่นหมายถึงทุกครั้งที่เขาเก็บเกี่ยว ทุกอย่างที่เก็บมาได้คือเงินทั้งสิ้น
อีกคำถามที่คนไทยต้องเริ่มตั้งด้วยอย่างจริงจังก็คือ แต่ละปีประเทศเรานำเข้าอะไรบ้าง
ซึ่งโดยที่จริงแล้วเราสามารถผลิตเองได้จากวัสดุที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเสียและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร"การเกษตรสร้างเปลือกทุเรียนถึงเดือนละสามพันตันต่อหนึ่งโรงงาน หมูก็กินไม่ได้ เนื่องจากมีหนาม ไม่เหมือนกล้วยที่ให้หมูกินได้ ถ้าไม่เผาไฟก็ฝังกลบลงดิน เราส่งออกทุเรียนเยอะมาก เปลือกทุเรียนมีเยอะกว่าเนื้ออีก นั่นคือสิ่งที่ควรพัฒนา ถ้าเราแค่ทำไฟเบอร์อะไรบางอย่างเพื่อมารองรับบรรจุภัณฑ์ทุเรียน ให้จบในจันทบุรี สิ่งที่ลดแน่ๆ คือโลจิสติก พลังงาน การขนส่ง เพราะว่าเขาทำเองได้ ดูแลเองได้ และช่วยสร้างงานให้คนในท้องถิ่น"
อานนท์บอกว่า "กระดาษทุเรียน" ก็น่าจะเป็นแพกเกจจิ้งที่ดีของทุเรียน เนื่องด้วยโครงสร้างทางธรรมชาติในการดูดซับกลิ่นและความชื้น ซึ่งเมื่อผ่านการแปรรูปจนเป็นกระดาษแล้วก็ยังคงคุณสมบัติอยู่ เนื่องจากไม่ได้สกัดโดยกระบวนการทางเคมี แต่เป็นกระบวนการธรรมชาติ
"สิ่งที่ดีที่สุดคือคุณไม่ต้องซื้อลังกระดาษจากกรุงเทพฯ แต่สามารถเอาสิ่งที่เหลือมาทำแพคเกจจิ้ง ความน่าเศร้าคือบางทีเราต้องนำเข้าพลาสติกรีไซเคิลซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นขนาดนั้น แต่ทำอย่างไรให้น้อยลง การสร้างผลิตภัณฑ์ในประเทศที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ ถ้าเราผลิตในประเทศได้ผมคิดว่าราคาจะถูกลง ถ้ามีคนที่เห็นโอกาสและลงทุนตรงนี้ มันเป็นอนาคตของประเทศได้ ธุรกิจกระดาษเป็นธุรกิจที่ทำให้รวยได้ ในเมื่อเกษตรกรสามารถทำจนจบ เขาก็ไม่อยากสั่งแพ็กเกจจิ้ง เผลอๆ เขาขายได้ เอามาใช้ลดต้นทุนเขาได้ ราคาสินค้าก็จะถูกลง หลายครั้งแพ็กเกจจิ้งแพงกว่าอาหาร เช่น น้ำเปล่า บางทีขนมนิดเดียว ห่อแพงกว่าขนมข้างในอีก ถ้าเกิดเราใช้บรรจุภัณฑ์โดยผู้ผลิตในประเทศได้ ก็จะเป็นการเปลี่ยนมุมมองทางธุรกิจ เผลอๆ เราจะส่งออกได้ ทั้งตัวผลิตภัณฑ์พร้อมๆ กับบรรจุภัณฑ์ แบบ Full System¨
โครงการพัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล โดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นการค้นคว้าเพื่อแก้ปัญหาเชิงสังคมและเป็นการสร้างการค้าที่ยั่งยืน แม้จะเคยมีงานวิจัยในแนวนี้อยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้มีมุมการค้า มุมมองทางการค้านี้เองจะช่วยทำให้งานวิจัยถูกพัฒนาไปแบบมีทิศทางมากขึ้น และเรียกได้ว่างานวิจัย DEWA คือการปรับกระบวนทรรศน์หรือการสร้าง Paradigm ใหม่ของการขายสินค้าที่เป็นออแกนิกแบบ Full System
ซึ่งปัจจุบันยังไม่เคยมี Awareness ว่ามาเมืองไทย ต้องมาหาสินค้าที่รีไซเคิลได้ หรือสินค้าที่เป็น Biodegradable
"ปัจจุบัน ผู้ซื้อกำลังต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากรู้สึกว่าได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่จ่ายเงินเท่าเดิม เรียกได้ว่าผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้เป็น Intangible Value ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วแต่ไม่เคยถูกหยิบยกมาขาย ผมถือว่านี่เป็นการ Branding ที่ดีให้กับประเทศ ของที่ได้มาเป็นของออแกนิกแล้วเราจะรู้สึกปลอดภัยกับมันมากขึ้น รู้สึกไม่อันตรายกับชีวิตและร่างกาย สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมันมีความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องของสังคม ของการสร้างรายได้ให้ชุมชน และอีกหลายๆ อย่าง" อานนท์กล่าว
ส่วนนิทรรศการ DEWA ในงาน BIG+BIH October 2015 ที่จะถึงนี้ จะทำแสดงให้เห็นว่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีพันธุ์พืชแตกต่างกันอย่างไร และเมื่อนำมาเข้าโครงการแล้ว ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันอย่างไร
รวมทั้งเป็นการประกาศว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่มีมูลค่า และสามารถส่งออกได้จริงในฐานะผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยสร้างอนาคตให้กับประเทศ
BIG+BIH ตุลาคม เปิดสำหรับการเจรจาธุรกิจ ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 10.00-18.00 น. และเปิดจำหน่ายปลีกระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม 10.00-21.00 น. ผู้สนใจสามารถชมข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนชมงานล่วงหน้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ www.bigandbih.com อีเมล์ big@ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169