กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--ยูไอเอช
กฟผ. - ยูไอเอช ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "งานบริการโครงข่ายโทรคมนาคม" เสริมศักยภาพโครงข่ายทั้ง 2 ฝ่าย เพิ่มประสิทธิภาพด้านสื่อสารควบคุมการผลิต และการส่งพลังงานไฟฟ้า พร้อมรองรับการเข้าสู่ AEC และตอบสนองยุทธศาสตร์ EGAT BEST สู่ Global Top Quartile สร้างความเชื่อมั่นแก่พันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศด้วยระบบโครงข่ายที่มีความเสถียรสูงยิ่งขึ้นตามหลักมาตรฐานสากล
นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ กฟผ. ร่วมกับพันธมิตรเอกชน คือ ยูไอเอช ในการร่วมกันดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม โดยการเชื่อมต่อโครงข่ายหลัก (Backbone) ของ กฟผ. ซึ่งปัจจุบันมีศักยภาพในการบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก ในรูปแบบของ Optical Fiber with Overhead Ground Wire (OPGW) บนเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทั่วประเทศที่ใช้สื่อสารควบคุมการผลิตและการส่งพลังงานไฟฟ้า ให้เข้ากับโครงข่ายโลคัลลูป (Network Local Loop) ของ ยูไอเอช เพื่อบริหารทรัพย์สินอุปกรณ์โทรคมนาคมของทั้งสององค์การอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มความสามารถในการให้บริการต่อลูกค้าได้อย่างทั่วถึงและครบถ้วน
รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวต่อไปว่า "ความร่วมมือของ กฟผ. กับ ยูไอเอช ในครั้งนี้ มุ่งเสริมความแข็งแกร่งของศักยภาพโครงข่ายหลักของ กฟผ. ในการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมร่วมกัน หรือ Telecom Network Sharing จะช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อนในการสร้างโครงข่ายโทรคมนาคม เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ และสอดรับกับนโยบายของ กฟผ. ตามยุทธศาสตร์ EGAT BEST ที่เตรียมพร้อมมุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำในกิจการไฟฟ้า Global Top Quartile
พันเอกเรืองทรัพย์ โฆวินทะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (ยูไอเอช) กล่าวว่า ยูไอเอช ในฐานะเป็นผู้นำในการให้บริการบรอดแบนด์ครบวงจร (One Stop Broadband Solution Service) มีความพร้อมในการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยมีแนวทางการบริหารงานที่ให้ความสำคัญหลัก ได้แก่
1. คุณภาพโครงข่าย ยูไอเอช มีการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพโครงข่ายสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการบริการด้านบรอดแบนด์ให้กับลูกค้า ด้วยจุดเด่นด้าน "สมาร์ท เน็ตเวิร์ค" ซึ่งระบบโครงข่ายของ ยูไอเอช มีความเสถียรสูงและมีมาตรฐานระดับสากล พร้อมระบบการจัดการความปลอดภัยบน
อินฟราสตัคเจอร์
2.บุคลากร ยูไอเอชเน้นการพัฒนาความเชี่ยวชาญของบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีระดับสูงซึ่งปัจจุบันเรามีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบระบบตามความต้องการของลูกค้า (Customer Centric) ที่มีความพร้อมดูแลระบบโครงข่ายทั้งในและต่างประเทศตลอด 24 ชั่วโมง และมีระดับการให้บริการตามมาตรฐาน SLA (Service Level Agreement)
ในขณะเดียวกัน ยูไอเอชมีเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายระดับอาเซียน โดยได้วางจุดเชื่อมต่อโครงข่ายบรอดแบนด์ไว้ 7 แห่งภายในประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียน และการวาง Point of Presence (PoP) ไว้ที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารชั้นนำระดับโลก เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการสื่อสารไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้รวดเร็วขึ้น
สำหรับความร่วมมือระหว่าง กฟผ.และยูไอเอช ในครั้งนี้ ทำให้ยูไอเอชสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายไปยังต่างประเทศ ผ่านจุดเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศ บนโครงข่ายที่มีความเสถียรสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของ ทั้ง 2 ฝ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
"ด้วยจุดเด่นยูไอเอชที่มีคุณภาพการให้บริการระบบโครงข่าย ระดับมาตรฐานชั้นนำ ตั้งแต่การออกแบบระบบจนถึงดูแลให้บริการลูกค้าอย่างใกล้ชิด ขณะที่ กฟผ. มีโครงข่ายไฟเบอร์ ออฟติก ที่มีขนาดใหญ่และมีเสถียรภาพสูง ดังนั้นความร่วมมือนี้จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าองค์กรของยูไอเอชได้ดียิ่งขึ้นและสามารถขับเคลื่อนยูไอเอชไปสู่องค์กรชั้นนำในการให้บริการในระดับภูมิภาคอาเชียนตามเป้าหมายได้" พันเอกเรืองทรัพย์ กล่าวในตอนท้าย
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมร่วมกันระหว่าง กฟผ. และยูไอเอช ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมจากโครงข่ายหลักของ กฟผ. ที่จับมือกับพันธมิตรเอกชน ซึ่ง กฟผ. ดำเนินการอย่างเคร่งครัดภายในขอบข่าย พ.ร.บ. กฟผ. และมีการจัดตั้งคณะทำงานที่มีผู้แทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการกำหนดคุณสมบัติคัดเลือกพันธมิตรที่จะร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ มีความชัดเจนและโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง