กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งขับเคลื่อนมาตรการจ้างงานตามกรอบแนวทาง 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยดำเนินกิจกรรมที่เป็นการป้องกัน ยังยั้ง หรือลดความเสียหายจากภัยพิบัติในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติในช่วงที่เกิดภัย พร้อมทั้งสั่งการหน่วยปฏิบัติในพื้นที่รวบรวมข้อมูลสถานการณ์น้ำ แนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ความต้องการของเกษตรกรและประชาชน สำหรับเป็นข้อมูลสนับสนุนให้จังหวัดวางกรอบแนวทางในการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558/2559 พบว่า ภาพรวมอ่างเก็บน้ำทุกแห่งทั่วประเทศมีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนรับมือปัญหาภัยแล้งไว้ล่วงหน้า โดยมุ่งเน้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเชิงบูรณาการ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติในช่วงที่เกิดภัย ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 และ 6 ตุลาคม 2558 ได้มีมติให้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งตามกรอบแนวทางสำคัญ 8 มาตรการ ได้แก่ การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้แก่เกษตรกร การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการสนับสนุนอื่นๆ สำหรับในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับผิดชอบมาตรการการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยใช้จ่ายงบประมาณจากเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน วงเงินจังหวัดละ 10 ล้านบาท ซึ่งมุ่งเน้นการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ดำเนินกิจกรรมที่เป็นการป้องกัน ยับยั้ง หรือลดความเสียหายจากสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า อาทิ การซ่อมแซมระบบประปา การพัฒนาน้ำผิวดิน การเป่าล้างบ่อบาดาล การขุดลอกแหล่งน้ำ การกำจัดผักตบชวา รวมถึงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพระยะสั้น ปัจจุบันดำเนินโครงการแล้วจำนวน 24 จังหวัด รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 102,384,983 บาท ทั้งนี้ จะเร่งขยายผลการดำเนินมาตรการจ้างแรงงานในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในมาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประสานงานกับฝ่ายปกครองจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ รวบรวมข้อมูล และจัดทำบัญชีสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ ข้อมูลบ่อบาดาล ข้อมูลสถานีสูบน้ำ และข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำผิวดินและน้ำบาดาล ความต้องการของเกษตรกรและประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้จังหวัดใช้ในการวางแผน กำหนดกรอบแนวทาง และเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งจะได้รวบรวมส่งกระทรวงมหาดไทยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th