กรุงเทพ--30 ก.ค.--สำนักงานเขตกรุงเทพ
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 29 ก.ค. 40 เวลา 13.00 น. ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมเขตบางพลัด และเขตบางกอกน้อย ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับบริษัท บี.เค.เค อินฟราสตรั้คเจอร์ จำกัด และลงนามสัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสีย ในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับบริษัทโปรเกรสเทคโนโลยี คอนซัลเท็นส์ จำกัด และบริษัท เม็ทคาล์ฟแอนด์เอ็ดดี อินเตอร์เนชั่นแนล (Metcalf & Eddy International, Inc.) โดยมี รศ.ญาณเดช ทองสิมา รองผู้ว่าฯ กทม. นายบำเพ็ญ จตุรพฤกษ์ รองปลัดกทม. นายนิคม ปราชญ์นคร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ นายชาญชัย โรหิตศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ร่วมเป็นสักขีพยาน
ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวรายงานถึงการลงนามสัญญาทั้งสองโครงการว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วม เมื่อปี 2538 และ 2539 ทำให้ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางกอกน้อย ประสบความเดือดร้อนอย่างมาก ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ตามแผนงานหลักระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดให้มีการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมเขตบางพลัด และเขตบางกอกน้อย โดยใช้งบประมาณซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในสัดส่วน 60% เป็นเงิน 448.80 ล้านบาท และงบประมาณของกรุงเทพมหานครจำนวน 229.20 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 748 ล้านบาท โครงการดังกล่าวจะสามารถป้องกันน้ำท่วมตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองบางกอกน้อย ยาวประมาณ 5.5 กิโลเมตร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถป้องกันน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 13 ตารางกิโลเมตร โครงการนี้ดำเนินงานโดยบริษัท บี.เค.เค อินฟราสตรั๊คเจอร์ จำกัด กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 720 วัน
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นผลมาจากการที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียตามคูคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียหลายโครงการทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียสี่พระยา, โครงการบำบัดน้ำเสียรัตนโกสินทร์, โครงการบำบัดน้ำเสียรวมระยะที่ 1, โครงการบำบัดน้ำเสียยานนาวา, โครงการบำบัดน้ำเสียหนองแขม-ภาษีเจริญ-ราษฎร์บูรณะ และโครงการบำบัดน้ำเสียรวมระยะที่ 4 ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดีเมื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวแล้วเสร็จ จะต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินระบบและบำรุงรักษาระบบเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการบำบัดมลพิษนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมใจการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียในเขตกรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยพิจารณาจากเงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ คือ จะนำความคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณาดำเนินงานด้วย ซึ่งโครงการศึกษาดังกล่าวดำเนินงานโดย บริษัท โปรเกรสเทคโนโลยี คอนซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท เม็ทคาล์ฟแอนด์เอ็ดดี อินเตอร์เนชั่นแนล (Metcalf & Eddy Internationnal,Inc.) ในวงเงิน 13 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน
ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังการลงนามสัญญาว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมเขตบางพลัดและเขตบางกอกน้อย ความยาว 5.5 กิโลเมตร ที่ได้เซ็นสัญญาในวันนี้ เป็นส่วนที่เตรียมการไว้สำหรับป้องกันน้ำท่วมปีหน้าการก่อสร้างจะใช้เวลา เกือบ 20 เดือน ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตบางพลัดและบางกอกน้อยครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 13 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ดีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตนได้ทำความเข้าใจกับผู้รับเหมาะโดยขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งผู้รับเหมารับว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยใช้เวลาประมาณ 17-18 เดือน นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว ตนได้มอบหมายให้ รศ.ญาณเดช ทองสิมา รองผู้ว่าฯ กทม.ดูแล ตรวจสอบ แก้ไขปัญหาแก่ประชาชนอย่างใกล้ชิดด้วย ส่วนการศึกษาความเหมาะสมในการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียในเขตกรุงเทพมหานคร บริษัทที่ปรึกษาจะทำการศึกษาเกี่ยวกับการคิดค่าบริหารการบำบัดน้ำเสีย เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับกรุงเทพมหานครนำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณา โดยให้คณะรัฐมนตรีมีมติอีกครั้งว่าจะให้จัดเก็บอย่างไร คิดค่าบริการจากประชาชนเท่าไร รัฐบาลจะสนับสนุนค่าบริหารอย่างไร และในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง--จบ--