กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันประมาณ 42,853 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 19,050 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 37 สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 40,125 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 16,622 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 สำหรับอ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักชลสิทธิ์ รวม 4 อ่างฯ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 10,329 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 3,633 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 20 (ณ วันที่ 1 พ.ย. 2558 มีความต้องการใช้น้ำไม่น้อยกว่า 3,677 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 44 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งหลังจากที่มีฝนตกชุกกระจายทางตอนบนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน ( ณ วันที่ 13 ต.ค. 58) รวมกันประมาณ 3,633 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี คาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือน ต.ค. นี้ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้ง 4 แห่ง จะอยู่รวมกันประมาณ 3,600-3,700 ล้าน ลบ.ม. ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทุกโครงการ บริหารจัดการน้ำท่าที่เกิดจากปริมาณฝนที่ตกในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการผันน้ำท่าที่เหลือไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ที่ยังสามารถเก็บน้ำได้ เพื่อเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ให้ได้นานที่สุด
"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการในส่วนของมาตรการการจ้างงาน โดยการจ้างแรงงานชลประทาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยจะเริ่มรายงานครั้งแรกวันที่ 15 ตุลาคม 2558 สำหรับมาตรการอื่น ๆ อยู่ระหว่างส่วนราชการทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ นอกจากนั้น ได้สั่งการให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด ลงพื้นที่ชี้แจงสถานการณ์ผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 9 - 22 ตุลาคม 2558 เกษตรกรเป้าหมาย 195,311 ราย มีเกษตรกรเข้าร่วมรับฟังแล้ว 23,637 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ของเป้าหมาย" นายธีรภัทร กล่าว
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี 2558 (ณ วันที่ 9 ต.ค. 58) ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกแล้ว 14.16 ล้านไร่ จากแผน 15.78 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 89 มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำในช่วงต้นฤดูฝน 22,263 ไร่ และมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 5.29 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่นาปีต่อเนื่องจำนวน 1.23 ล้านไร่ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกแล้ว 6.27 ล้านไร่จากแผน 7.45 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูก 1.18 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำในช่วงต้นฤดูฝน 21,644 ไร่ และมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 4.47 ล้านไร่ และสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 5.54 ล้านไร่ พื้นที่ได้รับความเสียหาย 69,486 ไร่ และมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 1.49 ล้านไร่