กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ตามกรอบแนวทางใน 8 มาตรการสำคัญของรัฐบาล ครอบคลุมทั้งการจ้างงาน เพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัย การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งสำหรับให้จังหวัดเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ โดยช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่ประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติในช่วงที่เกิดภัย รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า หลายพื้นที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 และ 6 ตุลาคม 2558 ได้มีมติให้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด และพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 55 จังหวัด ตามกรอบแนวทาง 8 มาตรการสำคัญ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งใน 3 มาตรการ ดังนี้ 1) มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งมุ่งเน้นการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ดำเนินกิจกรรมที่เป็นการป้องกัน ยับยั้ง หรือลดความเสียหายจากสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน วงเงินจังหวัดละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินโครงการแล้วจำนวน 24 จังหวัด รวมวงเงินงบประมาณกว่า 102 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ในพื้นที่ประสบภัย 2) มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติประสานฝ่ายปกครองจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อาทิ สถานการณ์น้ำ จำนวนบ่อน้ำบาดาล สถานีสูบน้ำ รวมถึงความต้องการของเกษตรกรและประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้จังหวัดใช้ในการวางแผน กำหนดกรอบแนวทางและเสนอโครงการฯ ส่งให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือที่ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และ 3) มาตรการสนับสนุนอื่นๆ โดยดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรอง ราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ในกรอบวงเงินทดรองราชการฯ จังหวัดละ 20 ล้านบาท ทั้งนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ชุมชนที่ประสบภัย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งในทุกมิติ
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th