กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์สูงในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วและรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานและระบบบริหารความเสี่ยงที่ต่อเนื่อง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลประกอบการทางการเงินที่มั่นคงและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นของบริษัทแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งอันดับเครดิตของบริษัทได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเองเนื่องจากปัจจุบันบริษัทเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารธนชาต อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากประเด็นกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงและคุณภาพสินเชื่อของบริษัทจากการที่ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นให้สินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าประสบการณ์ของผู้บริหาร ตลอดจนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่ปรับตัวดีขึ้น และการสนับสนุนจากบริษัทแม่จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายสินเชื่อในตลาดเป้าหมายได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมและรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้และรักษาระดับในการทำกำไรที่ดี อีกทั้งการสนับสนุนจากบริษัทแม่ยังคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจ
อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ตลอดจนพัฒนาความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังจะได้รับการพิจารณาหากบริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทลูกในกลุ่มการเงินของธนาคารธนชาตในระดับ Solo Consolidation ภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะทำให้ความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทต่อธนาคารธนชาตมีระดับที่แข็งแกร่งมากขึ้น ในทางกลับกัน อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลงหากสถานะทางการตลาดของบริษัทอ่อนแอลง หรือคุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลงจนกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัท นอกจากนี้ หากความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทต่อธนาคารธนชาตลดลงก็จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทในเชิงลบเช่นกัน
บริษัทราชธานีลิสซิ่งมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาตมาตั้งแต่ปี 2553 หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กับธนาคารธนชาตพร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ปัจจุบันธนาคารธนชาตจัดให้บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มควบรวมแบบ Non-Solo Consolidation ตามกฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของ ธปท. แม้ว่าธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จะทับซ้อนกับธุรกิจของธนาคารธนชาต ทว่าบริษัทและธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์และตลาดเป้าหมายที่ต่างกัน ธนาคารธนชาตมีความตั้งใจที่จะให้บริษัทเน้นกลุ่มตลาดที่ธนาคารธนชาตยังเข้าไม่ถึง นอกจากนี้ ธนาคารธนชาตยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทในการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้วย โดยมีการนำนโยบายการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ มาใช้ในบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารธนชาต ล่าสุดบริษัทได้เปลี่ยนระบบสารสนเทศและบัญชีสำหรับธุรกิจเช่าซื้อมาใช้ระบบเดียวกับของธนาคารธนชาต ทั้งนี้ บริษัทยังได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากธนาคารแม่และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ผ่านการกำกับดูแลจากธนาคารแม่ด้วยเช่นกัน
บริษัทได้เน้นการให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2549 โดยสินเชื่อในกลุ่มนี้คิดเป็น 68% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คงค้างของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 เนื่องจากสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์จัดเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ บริษัทจึงพยายามชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเรียกเก็บเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น และการให้ชำระเช็คลงวันที่ล่วงหน้า เป็นต้น
บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาต ซึ่งทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินเพิ่มมากขึ้นอันจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันและช่วยสนับสนุนความพยายามในการขยายธุรกิจของบริษัท บริษัทสามารถยกระดับสถานะทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่องโดยสะท้อนจากการเติบโตที่สม่ำเสมอของสินเชื่อ ในปี 2550-2556 การเติบโตของสินเชื่อของบริษัทอยู่ในอัตรามากกว่า 10% มาตลอด โดยสินเชื่อรวมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 6 ปีดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 45% ในปี 2550 สินเชื่อรวมอยู่ที่ 2,854 ล้านบาท จากนั้นเติบโตมาอยู่ที่ 27,421 ล้านบาทในปี 2556 อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ปีก่อนทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อลดลง ทั้งนี้ ในปี 2557 สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 28,224 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 สินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ที่ 29,241 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 3.5% เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2557
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปีนับตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2555 โดยลดลงจาก 4.9% ในปี 2551 เป็น 2.3% ในปี 2555 อย่างไรก็ดี อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในปี 2556 และอยู่ในระดับสูงสุดที่ระดับ 5.2% ในปี 2557 เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ต่อมาในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 4.9% เนื่องจากการตัดหนี้สูญ รวมถึงการขายหนี้ด้อยคุณภาพ และการปรับโครงสร้างหนี้
บริษัทมีผลกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2555 และ 2556 โดยในปี 2555 บริษัทมีกำไรสุทธิ 477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 133% จากปี 2554 ในขณะที่ในปี 2556 บริษัทยังมีกำไรสุทธิ 754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.2% ในปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปี 2555 และ 1.9% ในปี 2554 การปรับตัวดีขึ้นของกำไรสุทธิดังกล่าวเป็นผลมาจากการขยายฐานสินเชื่อจำนวนมาก รวมถึงการประหยัดจากขนาดจากต้นทุนการดำเนินงาน และการมีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการประหยัดจากขนาดจากสินเชื่อที่เติบโตขึ้นและจากการสนับสนุนของธนาคารธนชาต อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ลดลงเป็น 10.7% ในปี 2556 จากระดับ 26.7% ในปี 2552 อย่างไรก็ดี อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.8% ในปี 2557 และ 14.3% ในครึ่งแรกของปี 2558 เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่สูงขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง บริษัทมีการตั้งสำรองหนี้สูญสูงถึง 432 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 704 ล้านบาทในปี 2557 ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปี 2556 สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2558 บริษัทรายงานกำไรสุทธิ 365 ล้านบาทเทียบกับปีก่อนที่ 368 ล้านบาท บริษัทยังคงเผชิญกับความท้าทายที่จะรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรและควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย การเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาตทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีเงินกู้ยืมจากธนาคารธนชาตเพียงบางส่วน ทั้งนี้ บริษัทจะใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารธนชาตเมื่อมีความจำเป็นด้านสภาพคล่อง
ฐานทุนของบริษัททรุดลงจากการระดมทุนเชิงรุกโดยการกู้ยืมเพื่อขยายสินเชื่อแม้ว่าผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และมีการเพิ่มทุนแล้วก็ตาม อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 31.4% ในปี 2550 เป็น 13.4% ในปี 2553 และ 12.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 การปรับโครงสร้างทุนในเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นเป็น 17.2% ณ สิ้นปี 2554 บริษัทใช้ความยืดหยุ่นทางการเงินที่มีมากขึ้นในการขยายสินเชื่อในปี 2555 และปี 2556 ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 13.1% ณ สิ้นปี 2555 ถึงแม้ว่าบริษัทจะเสริมฐานทุนในปี 2556 ด้วยการจ่ายหุ้นปันผล กระนั้นอัตราส่วนดังกล่าวก็ยังลดลงเป็น 11.8% ณ สิ้นปี 2556 อันเนื่องมาจากการขยายสินเชื่อในช่วงเวลาดังกล่าว ในปี 2557 บริษัทยังคงจ่ายหุ้นปันผลในขณะที่สินเชื่อเติบโตน้อยลง ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.9% ในปี 2557 และ 14.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ฐานทุนของบริษัทเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับจากกำไรที่สูงและการจ่ายหุ้นปันผล
บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
THANI164A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+
THANI16NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+
THANI176A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+
THANI17OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+
THANI185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable