กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)เร่งปรับกลยุทธ์เสริมแกร่งจากภายใน ส่งเสริมผู้ประกอบการรวมกลุ่มคลัสเตอร์(Cluster) เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการหันมาเลือกใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศในภาวะเงินบาทอ่อนค่าแตะ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 6 ปี 6 เดือน พร้อมเป็นแกนกลางหนุน SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ง่ายขึ้นโดยเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลผู้ประกอบการไปยังสถาบันการเงินโดยตรง
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่าจากสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 6 ปี 6 เดือน ในด้านหนึ่งแม้จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในด้านการนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศ ที่ผู้ประกอบการอาจต้องใช้เงินทุนจำนวนสูงขึ้นในการสั่งซื้อเครื่องจักรและสินค้าแต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยเพราะเงินบาทที่อ่อนค่าก็จะทำให้คู่ค้าต่างประเทศมีกำลังซื้อสินค้าไทยได้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมาหลายเดือนน่าจะปรับตัวได้ดีขึ้น
ดร.สมชาย กล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตามแม้ว่าค่าเงินบาทผันผวนและอ่อนตัวในช่วงนี้จะส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น แต่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้เร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายในโดยการพัฒนากระบวนการผลิต ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เน้นการนำนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของไทยให้มีจุดเด่น พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศ (Cluster) โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการหันมาเลือกใช้วัตถุดิบภายในประเทศหรือปรับเปลี่ยนวัตถุดิบให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิต โดยการพึ่งพาซึ่งกันและกันภายในกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสอ. สามารถสร้างการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ได้แล้วกว่า 70 กลุ่ม อาทิ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น ฯลฯซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการ SMEs กสอ. ได้ให้การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถจาก กสอ. โดยที่ผ่านมา ได้ประชุมหารือร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อีกกว่า 20 แห่ง เพื่อหาแนวทางเพิ่มโอกาสการได้รับอนุมัติสินเชื่อ ผ่านการเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลผู้ประกอบการไปยังสถาบันการเงินโดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น สำหรับในส่วนของวิสาหกิจชุมชนนั้นกสอ. มีบริการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยเพื่อให้บริการสินเชื่อตั้งแต่หลักหมื่น ถึง 2 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 6 ต่อปีโดยสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ กสอ. และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ด้าน นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะเงินบาทอ่อนค่าจึงส่งผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจของตนเองให้อยู่รอด โดยการหันมาใช้วัตถุดิบบางประเภทที่มีอยู่ในประเทศ การเน้นการผลิตเพื่อส่งออกให้มากขึ้น ทั้งนี้สำหรับปัญหาระยะยาวจำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐในการส่งเสริมการแปรรูปวัตถุดิบที่มีในประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันการขยายตลาดก็ต้องเร่งดำเนินการเพื่อกระตุ้นยอดการส่งออกทั้งของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมอื่นๆให้ติดลบน้อยลงด้วยอย่างไรก็ดีทางกลุ่มคลัสเตอร์ฯ ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีหลังจากนี้จะดำเนินการบูรณาการเกษตรอินทรีย์ของไทยสู่การเป็นฐานรากวัตถุดิบการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในตลาดโลกสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ผู้ประกอบการหันมาพึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่างๆของกรมส่งเสริมเสริมอุตสาหกรรมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr