กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
"บนเส้นทางตลอดอายุราชการในการทำงาน ตนเองได้มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต คำว่าจิตสาธารณะฝังอยู่ในจิตสำนึกของตนเอง ถึงแม้ตนเองจะเกษียณอายุราชการแล้ว ตนเองจะทำเพื่อสังคม และจะออกค่ายอาสากับสมาชิกในการสร้างค่ายต่อไป"
ผศ.พูลเกียรติ นาคะวิวัฒน์ ในฐานะประธานและอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมค่ายอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ธัญบุรี ได้ให้ความสำคัญกับภารกิจการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยเน้นในเรื่องกิจกรรมการพัฒนาสังคม และการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมคือ กิจกรรมการออกค่ายอาสาพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ของนักศึกษาในช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของบทบาทมหาวิทยาลัยในการช่วยเหลือสังคม (University Social Responsibility; USR) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในถิ่นทุรกันดารใน 4 องค์ประกอบสำคัญ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาด้านกายภาพในชุมชน
กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาฯ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีนั้นมุ่งสนองกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัย เมื่อครั้งยังใช้ชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ความสรุปได้ว่า พระองค์ท่านต้องการที่จะเห็นบัณฑิตของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็นบัณฑิตที่มีคุณค่าคือ เป็นทั้งคนเก่งและคนดีประหนึ่งเหรียญบาทที่มีทั้งหน้าหัวและหน้าก้อย ที่มีค่าหนึ่งบาทตลอดกาล ปัจจุบันกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา ภายใต้ชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรตินั้น ได้มีผลงานการก่อสร้างอาคารเรียนแบบถาวร และอาคารพระราชทานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับพื้นฐาน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 44 หลังทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ปรัชญาค่ายฯ ที่ว่า "ราชมงคล คนสร้างค่าย ค่ายสร้างคน" (คือค่ายฯ สร้างบัณฑิตที่มีคุณค่าและค่ายยังสร้างเยาวชนคุณภาพให้กับประเทศ)
ในการออกค่ายอาสาพัฒนาฯ ของมหาวิทยาลัยในแต่ละปีจะมีสมาชิกชาวค่ายฯ ที่มาจากทุกคณะจำนวน 100 – 150 คน โดยงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ นั้น ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมชมรมฯ เงินบริจาคจากผู้มีอุปการคุณ (บริจาคผ่านทางมหาวิทยาลัย) ชมรมทำกิจกรรมการหารายได้เอง นอกจากนี้ชมรมยังได้รับการสนับสนุนด้านอื่นๆ จากทางมหาวิทยาลัยซึ่งทำให้โครงการออกค่ายอาสาพัฒนาฯ ประสบความสำเร็จด้วยดีเสมอมา ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากคณาจารย์ที่ปรึกษาจากคณะต่างๆ (ที่ครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมค่ายอาสาฯ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้) แม้ว่าจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาผนวกกับสมาชิกชาวค่ายฯ ที่มาจากหลากหลายคณะ การดำเนินกิจกรรมการออกค่ายฯ ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้เป็นเพราะการออกค่ายฯ ในแต่ละปีเป็นสถานที่ใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ จึงมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นให้แก้ไข
หากจะพูดถึงกิจกรรมค่ายอาสาฯ จิตอาสา, จิตสาธารณะแล้ว มีความเหมือนหรือความคล้ายกันไหม? คงตอบได้ว่ามีความคล้ายกัน หากจะได้นำมาบูรณาการเข้าด้วยกันแล้วจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และสังคมอย่างมากมาย หากหนึ่งร้อยมหาวิทยาลัยไทยให้ความสำคัญในกิจกรรมนักศึกษาภายใต้โครงการออกค่ายอาสาพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์หรือภายใต้โครงการ USR แล้ว จะทำให้ชุมชนทั้งประเทศเข้มแข็งโดยเร็ว ประเทศไทยก็จะมีความเข้มแข็งในที่สุด ความมีสันติสุข ก็จะบังเกิดกับประเทศของเราโดยเร็วเช่นกัน ชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี ในปีหนึ่งๆ จะมีสมาชิกในสังกัดชมรมฯ ประมาณปีละกว่า 500 คน การที่ชมรมมีสมาชิกจำนวนมากเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่าเป็นชมรมกิจกรรมที่มีความท้าทาย เกิดประโยชน์ในภาพรวม การมีสมาชิกชมรมมากมายดังกล่าวข้างต้นยังเป็นเพราะว่าพี่ๆ ชวนน้องๆ ไปทำความดีร่วมกันโดยพี่ๆ จะบอกน้องๆ ว่าหากได้รับโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว นอกจากความสำเร็จในสาขาวิชาการที่เรียนที่ภาคภูมิใจแล้ว ควรจะมีความภาคภูมิใจที่จะติดตาตรึงใจไปตลอดชีวิตจากการได้ไปออกค่ายอาสาพัฒนาฯ เพราะเป็นความภาคภูมิใจที่ทำได้ยาก และมีโอกาสเดียวเท่านั้นในชีวิตนักศึกษา แม้ว่ากระผมจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ความเป็นคนค่ายอาสาฯ ยังเป็นชีวิตจิตใจที่อยากจะทำต่อไป "เพราะว่าการให้ไม่มีที่สิ้นสุด" โดยเฉพาะเป็นการให้ที่ทดแทนคุณแผ่นดิน ผมอยากให้กำลังใจแก่คณาอาจารย์ทั้งหลายได้หาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการออกค่ายอาสาพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ เพราะค่ายอาสาฯ จะให้อะไรแก่เรามากกว่าที่คิด "ราชมงคล คนสร้างค่าย ค่ายสร้างคน" และ "มหาวิทยาลัย ควรเป็นที่หนึ่งของสังคม ตลอดไป"