กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
ประเทศไทยมีการบริโภคน้ำผึ้งมายาวนาน เพราะน้ำผึ้งเป็นอาหารจากธรรมชาติที่มีคุณค่าสูงและขึ้นชื่อเรื่องการเป็นยาอายุวัฒนะ ปัจจุบันมีการเลี้ยงผึ้งเป็นการค้าเพื่อผลิตน้ำผึ้งจากดอกไม้หลายชนิด ทั้งน้ำผึ้งจากดอกลำไย ลิ้นจี่ ยางพารา ทานตะวัน สาบเสือ รวมถึง มันสำปะหลัง และจากการทดลองพบว่า น้ำผึ้งจากดอกไม้มีคุณค่าและคุณลักษณะที่แตกต่างกัน ดังเช่น น้ำผึ้งจากดอกทานตะวันจะตกผลึกได้ง่าย จนเป็นปัญหาต่อการแบ่งบรรจุเพื่อการค้าและการบริโภค รวมถึงความไม่เข้าใจของผู้บริโภค จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำผึ้งทานตะวัน ให้เป็นแยมน้ำผึ้ง เพื่อยกระดับน้ำผึ้งไทยและเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี สวาสดิ์ธรรม อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืชและภูมิทัศน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เจ้าของผลงาน เล่าว่า หลังจากที่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ได้เก็บน้ำผึ้งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ในรูปของ "ของเหลว" เมื่อปล่อยทิ้งไว้น้ำผึ้งเหล่านั้นจะเกิดการตกผลึก ทำให้เกิดปัญหาในการแบ่งบรรจุ และมีลักษณะที่ไม่น่ารับประทาน จากการศึกษาวิจัย ในขวดน้ำผึ้งจากดอกไม้แต่ละชนิด มีการตกผลึกได้ทั้งหมด แต่น้ำผึ้งจากดอกทานตะวันจะตกผลึกได้ง่ายมาก จึงเป็นปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ทั้งในด้านการแบ่งบรรจุ และการสื่อสารกับผู้บริโภค เพราะหลายครั้งผู้บริโภคอาจเข้าใจผิดได้ว่า น้ำผึ้งที่ขายนี้ เป็นน้ำผึ้งไม่แท้ จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำผึ้งทานตะวันให้เป็นแยมน้ำผึ้ง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เมื่อพบปัญหาการตกผลึกของน้ำผึ้ง หลังจากที่เก็บเกี่ยวจากรังผึ้ง จะนำน้ำผึ้งที่ตกผลึกมาละลาย โดยใช้ความร้อน เช่น ตากแดด หรือตุ๋น แต่คุณค่าทางโภชนาการของน้ำผึ้งก็จะลดลง
"เทคโนโลยีการผลิตแยมน้ำผึ้ง เป็นการเหนี่ยวนำให้น้ำผึ้งทานตะวันตกผลึก ให้อยู่ในสภาพครีมที่มีผลึกขนาดเล็ก เนื้อเนียนละเอียด และอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม โดยจะต้องมีความชื้นที่ 18 เปอร์เซ็นต์ และใช้หัวเชื้อซึ่งเป็นผลึกขนาดเล็ก ที่มีลักษณะเป็นครีม ในปริมาณ 1 ส่วน ใส่ลงไปในน้ำผึ้งสดที่เก็บเกี่ยวจากรังผึ้งสด 2 ส่วน แล้วกวนเบา ๆ ไปในทิศทางเดียวกันให้เป็นเนื้อเดียว แล้วนำเข้าตู้เย็นในช่องปกติ เพื่อให้เกิดการตกผลึกได้เร็วยิ่งขึ้น" ผศ. ดร.อัญชลี กล่าว
ผศ.ดร.อัญชลี อธิบายว่า ผลึกน้ำผึ้งที่นำมาใช้เป็นหัวเชื้อนี้ เมื่อเก็บน้ำผึ้งสดจากรังผึ้ง แล้วปล่อยทิ้งไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะเกิดการตกผลึกเองตามธรรมชาติ แต่ผลึกนั้นจะมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน เนื้อผลึกจะไม่ค่อยเนียนละเอียด การตกผลึกตามธรรมชาติในครั้งแรกจะเหมาะสมที่สุดในการนำมาเป็น หัวเชื้อตั้งต้น จากการศึกษาวิจัยหากนำน้ำผึ้งมาลดความชื้นเพื่อให้มีความเข้มข้น จะเกิดการตกผลึกที่มีขนาดเล็ก และขนาดของผลึกจะเท่า ๆ กัน มีลักษณะคล้ายกับคาราเมล ก็สามารถนำมาเป็นหัวเชื้อได้เป็นอย่างดีสำหรับการทำแยมน้ำผึ้ง
ด้วยลักษณะเด่นของกลิ่น สี รสชาติและคุณค่าที่แตกต่างของแยมน้ำผึ้งนี้ ทำให้เกิดอรรถรสในการบริโภคน้ำผึ้งแก่ผู้บริโภค และมีผลในเรื่องของสุขภาพและความงาม เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ และขึ้นชื่อเรื่องการเป็นยาอายุวัฒนะ และยังมีวิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโน และเอนไซม์ที่จำเป็นต่อร่างกาย เทคโนโลยีการผลิตแยมน้ำผึ้งนี้สามารถถ่ายทอดให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง หรือวิสาหกิจชุมชนนำไปใช้ในการผลิตแยมน้ำผึ้งเพื่อการจำหน่าย รวมถึงบริษัทธุรกิจน้ำผึ้งสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ นับเป็นการยกระดับน้ำผึ้งไทยไปอีกขั้นหนึ่ง
ล่าสุด ผศ. ดร.อัญชลี ยังได้นำผลงาน "เทคโนโลยีการผลิตแยมน้ำผึ้ง" ร่วมเป็นหนึ่งในตัวแทนของมหาวิทยาลัย เข้าร่วมจัดแสดงและได้รับรางวัล Bronze Award ในงาน Thailand Research Expo 2015 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้มีการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว แยมน้ำผึ้งจากดอกทานตะวันนี้ นับเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักวิจัยที่ได้ต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์รังสิต โทร. 02 592 1943