กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ในวันนี้ (16 ต.ค. 2558) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้แถลงข่าวผลการดำเนินงาน 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2558 โดยนางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนางอินทิรา โภคปุณยารักษ์ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ดังนี้
1.กำไรสุทธิ ช่วง 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.) ปี 2558 เท่ากับ 961 ล้านบาท โดยในเดือน ก.ย. 2558 มีกำไรสุทธิ 124 ล้านบาท เป็นผลมาจาก ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพดี (Good Loan) ทำให้มีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น โดยมี Net Interest Margin เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้น มิ.ย. 2558 เท่ากับ 2.25% เป็น 2.52 % ณ สิ้น ก.ย. 2558 ขณะที่ธนาคารมีกำไรสะสม ทำให้มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับ 10.25%
2. สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้น ก.ย. 2558 NPLsคงเหลือ 26,123 ล้านบาท (คิดเป็น 30.87% ของสินเชื่อรวม) โดยเดือน ก.ย. NPLs ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามากพอสมควร จำนวน 887ล้านบาท เป็นเพราะธนาคารมีการขายลูกหนี้ออกไปและมีการปรับโครงสร้างหนี้
3. เงินให้สินเชื่อ ณ สิ้น ก.ย. 2558 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 84,622ล้านบาท เป็นจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 69,147 ราย โดยลูกหนี้มีจำนวนรายเพิ่มขึ้นจาก ณ ธ.ค. 2557 เท่ากับ 1,472 ราย ลูกหนี้ใหม่ทุกรายที่เพิ่มขึ้นมีวงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท และเพียง 15 ต.ค. 2558 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 22,391 ล้านบาท มีลูกค้าใหม่ 9,491 ราย โดยมียอดสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 2.36 ล้านบาท ในส่วนของสินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ขณะนี้มีคำขอจากลูกค้า ซึ่งธนาคารได้พิจารณาเบื้องต้นอยู่ในข่ายจะสามารถอนุมัติได้เพียงวันที่ 15 ต.ค. 2558 เป็นวงเงิน 12,954.87 ล้านบาท 2,837 ราย
ในจำนวนนี้ 76.67 % เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และธนาคารสามารถอนุมัติสินเชื่อ Policy Loan ได้แล้ว 2,006.68 ล้านบาท 630 ราย (เฉลี่ยรายละ 3.18 ล้านบาท) ในส่วนของสินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ธนาคารได้เริ่มดำเนินการแล้วเพียงวันที่ 15 ต.ค. 2558 ได้รับคำขอสินเชื่อวงเงิน 9,345.66 ล้านบาท 2,447 ราย สามารถอนุมัติได้ 1,165.66 ล้านบาท 413 ราย (เฉลี่ยรายละ 2.82 ล้านบาท) ทั้งนี้การอนุมัติสินเชื่อไตรมาส 3 ค่อนข้างช้า เพราะต้องทำแนวทางในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อทั่วไป แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาขาและวิเคราะห์สินเชื่อของธนาคารเริ่มคุ้นเคยกับระบบการอนุมัติสินเชื่อที่ปรับปรุงใหม่ จึงเชื่อว่าการอนุมัติสินเชื่อในไตรมาส 4 จะทำได้รวดเร็วขึ้นมาก
4. การพัฒนาผู้ประกอบการ ธนาคารได้ร่วมกับ สสว. โดยมุ่งเน้นการบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ ซึ่ง สสว.จะเป็นแกนหลักในการบ่มเพาะร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และบทบาทของธนาคารในเรื่องนี้ คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะมีความตั้งใจแน่วแน่ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะประกอบกิจการ SMEs ได้ โดยธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อหรือร่วมลงทุนด้วย นอกจากนั้นธนาคารได้ร่วมกับสสว.ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมของวิสาหกิจชุมชน ให้เป็นที่ต้องการมากขึ้น และจะช่วยในเรื่องการจัดจำหน่ายด้วย
5. โครงการร่วมลงทุน ธนาคารพยายามเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ แต่การเข้าร่วมลงทุนกระทำได้ไม่เร็วนักเพราะมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถหาพี่เลี้ยง ( Asset Manager ) ได้มากเพียงพอ SMEs ที่ธนาคารคัดสรรเป็นเป้าหมายร่วมลงทุนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม เพียงสิ้นเดือน ก.ย. 2558 มี SMEs ที่ธนาคารจะสามารถร่วมลงทุนได้ จำนวน 380 ล้านบาท แยกเป็น เตรียมจะลงเงินใน SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพ 2 ราย (ธุรกิจด้านไอทีและอาหาร) รวมเป็นเงินลงทุน 20 ล้านบาท SMEs ที่จะต้องดูแลการทำแผนธุรกิจก่อนให้เงินลงทุนอีก 2 ราย (ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องสำอางค์) รวมเงินลงทุน 60 ล้านบาท นอกจากนี้มี SMEs ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมลงทุนอีก 20 ราย (ธุรกิจด้านอาหาร ยานยนต์ และไอที) รวม 300 ล้านบาท