กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๖ ต.ค. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่๒๖๓/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กรณีการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์นั้น ตนได้กำชับให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จัดทำแผนการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยต้องเตรียมแผนการรองรับผลกระทบและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ตนยังได้กำชับให้ พส. ขับเคลื่อนและดำเนินการเกี่ยวกับคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยต้องบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับข้อเสนอต่างๆ จากกลุ่มคนดังกล่าว ในงาน "วันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะโลก" (World Homeless Day) ประจำปี ๒๕๕๘ ซึ่งได้เรียกร้องในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความต้องการที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า จากการที่ตนได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ลงพื้นที่ช่วยเหลือคนพิการผู้ประสบปัญหาสังคมต่างๆ จากการประชุม ศปก.พม. กรณีเด็กชายอายุ 7 ปี มีความผิดปกติที่อวัยวะเพศ และพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ อาศัยอยู่กับปู่ เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน ที่จังหวัดอ่างทอง นั้น ล่าสุดได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือกรณีดังกล่าว โดยได้มอบเงินสงเคราะห์และอำนวยความสะดวกด้านรถรับ-ส่งไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัด รวมทั้งขึ้นทะเบียนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าคนพิการ และประสานศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดอ่างทอง เพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาของเด็กต่อไป และกรณีครอบครัวพี่น้อง ๓ คน ประกอบด้วยพี่ชายตนโต อายุ ๘๓ ปี พิการตาบอดสนิททั้ง ๒ ข้าง น้องสาวคนรอง อายุ ๗๙ ปี มีสายตาฝ้าฟาง และน้องสาวอีกคน อายุ 75 ปี ป่วยด้วยอาการกระดูกหลังร้าวเดินไม่ค่อยได้ ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก อาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านไม้สภาพบ้านเก่าผุพังมากจนไม่สามารถบังแดดบังฝนได้ ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดสุรินทร์ นั้น เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือกรณีดังกล่าว โดยเงินสงเคราะห์ครอบครัว และ ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลในระยะยาวต่อไป
"สำหรับกรณีหญิงชรา อายุ 85 ปี ต้องอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในเล้าไก่ ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันจนต้อง ตัดนิ้วก้อยด้านขวา เนื่องจากแผลอักเสบ เพราะไม่มีเงินรักษา มีรายได้จากการปลูกผักขาย ที่จังหวัดชุมพร นั้น ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชุมพร (พมจ.ชุมพร) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือ ในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือดูแลด้านรักษาพยาบาลในระยะยาวต่อไป สำหรับกรณีหญิงชรา อายุ ๘๒ ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ใช้วิธีการออกกำลังกายโยคะ เพื่อต่อสู้กับโรคประจำตัวหลายโรค เช่น อัมพาตครึ่งซีก หัวใจสั่น เบาหวาน จนปัจจุบัน มีสุขภาพดีขึ้น และหายเป็นปกตินั้น ตนขอชื่นชมกรณีดังกล่าวและนับว่าตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจนสามารถหายจากโรคประจำตัวได้"พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย