กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และการจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัท ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงราคาผลิตภัณฑ์ของบริษัทซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบซึ่งมีความผันผวน ตลอดจนความเสี่ยงจากโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้าของประเทศผู้นำเข้าสินค้าด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะผู้ผลิตรายใหญ่ในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารได้ต่อไป โดยกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และการจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทจะช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทได้บางส่วน
ทั้งนี้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และรักษาโครงสร้างทุนไม่ให้อ่อนแอลงในขณะที่มีการขยายงาน ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากการแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงเพิ่มขึ้นจนส่งผลลบต่อรายได้และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเป็นระยะเวลานาน
บริษัทเบทาโกรก่อตั้งในปี 2510 โดยกลุ่มตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ ปัจจุบันบริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย ณ เดือนมิถุนายน 2558 ตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ถือหุ้นในบริษัททั้งโดยตรงในสัดส่วน 14.33% ของหุ้นทั้งหมดและถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัทแม่คือ บริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด อีก 69.45% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 6 สาย ประกอบด้วย ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจไก่ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจสุกรและภูมิภาค ธุรกิจสุขภาพสัตว์และเทคโนโลยี และธุรกิจต่างประเทศ ในปี 2557 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจไก่ในสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 35% ของรายได้รวมของบริษัท รองลงมาคือธุรกิจอาหารสัตว์ (34%) และธุรกิจสุกร (21%) รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศคิดเป็น 88% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2556 ในขณะที่รายได้จากการส่งออกมีสัดส่วน 12%
นับตั้งแต่การร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 2523 บริษัทก็ยังคงดำเนินนโยบายการร่วมทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนกับหุ้นส่วนชาวญี่ปุ่น การขยายธุรกิจผ่านการร่วมทุนนอกจากจะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสำหรับการส่งออกแล้วยังเป็นประโยชน์แก่บริษัทในการปรับปรุงการดำเนินงานและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรแบบ SPF (Specific Pathogen Free) ซึ่งเป็นการเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรคและสารตกค้าง ผลสำเร็จจากการร่วมทุนทำให้บริษัทเติบโตโดยลำดับจนเป็นผู้นำในการผลิตเนื้อสุกรคุณภาพสูงในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจไก่และสุกรแบบครบวงจรตั้งแต่อาหารสัตว์ไปจนถึงการแปรรูปเนื้อไก่และสุกรเป็นอาหารสำเร็จรูป การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทมีมาตรฐานในระดับสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ ตลาดส่งออกหลักของบริษัทคือประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป โดยสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านทางผู้ร่วมทุนของบริษัท
บริษัทให้ความสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และสร้างตราสินค้าเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์พื้นฐานของบริษัทซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์เนื้อชำแหละภายใต้ตราสินค้าของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 12% และ 14% ของยอดขายรวมของบริษัท ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์เนื้อชำแหละภายใต้ตราสินค้าของบริษัทให้เป็น 18% และ 24% ตามลำดับภายในปี 2563 หากบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวน่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานมีเสถียรภาพมากขึ้น สำหรับตลาดในประเทศนั้น บริษัทได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายของตนเองผ่าน "ร้านเบทาโกร" เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและร้านอาหาร โดย ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีร้านเบทาโกร 126 สาขาในประเทศไทย และ 2 สาขาในต่างประเทศ
บริษัทมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในปี 2557 ซึ่งสอดคล้องกับราคาสัตว์บกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทเติบโตเป็น 83,449 ล้านบาทในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 12% จากปี 2556 เนื่องมาจากยอดขายสุกรที่ปรับตัวดีขึ้นและความต้องการไก่ในตลาดส่งออกโดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปที่เติบโตอย่างมาก อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 6.6% ในปี 2556 เป็น 8.4% ในปี 2557 ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 5,320 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 7,396 ล้านบาทในปี 2557
ราคาไก่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2556 จนถึงต้นปี 2557 ดึงดูดให้ผู้ประกอบการขยายกำลังการผลิต นอกจากนี้ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไก่รายใหญ่ของประเทศได้กลับมาทำการผลิตอีกครั้งหลังจากประสบปัญหาทางการเงินในปี 2556 ส่งผลให้ปริมาณไก่ของทั้งประเทศเพิ่มขึ้นและราคาไก่ตกต่ำลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ราคาเฉลี่ยของไก่อยู่ที่ 35.70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ปรับตัวลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนราคาสุกรขุนก็ปรับตัวลดลงจากภาวะอุปทานส่วนเกิน โดยราคาเฉลี่ยของสุกรขุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 อยู่ที่ 60.40 บาทต่อ กก. ซึ่งปรับตัวลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นในธุรกิจสัตว์บก ราคาไก่และสุกรที่ลดลงส่งผลในด้านลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ทั้งนี้ อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงจาก 9.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เป็น 3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวลดลงเหลือ 1,583 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จากระดับ 4,270 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงแม้รายได้ของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 40,639 ล้านบาทก็ตาม
กำไรของบริษัทที่ปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ส่งผลให้สถานะงบดุลของบริษัทอ่อนแอลงเล็กน้อย หนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 9,387 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 เป็น 13,571 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 39.8% ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 49.9% ณ เดือนมิถุนายน 2558 อย่างไรก็ตามสภาพคล่องของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ได้รับผลกระทบจากราคาสัตว์บกที่อ่อนตัวลง อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวลดลงจาก 62.6% ในปี 2557 เป็น 32.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับ 8.4 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เทียบกับระดับ 17.7 เท่าในปี 2557
คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปีจะปรับตัวดีขึ้นจากราคาสุกรที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนอาหารสัตว์ที่ไม่ผันผวนมากนัก กอปรกับความต้องการผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยในตลาดส่งออกที่ยังคงแข็งแกร่งจากการทยอยยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทยของหลายประเทศและค่าเงินบาทที่อ่อนลง นอกจากนี้ โรคไข้หวัดนกที่ระบาดในประเทศผู้ส่งออกสำคัญหลายแห่งยังทำให้ผู้เลี้ยงไก่ในประเทศไทยไม่สามารถนำเข้าไก่พ่อแม่พันธุ์จากประเทศเหล่านี้ได้
ในช่วงปี 2558-2561 บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 12,800 ล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตทั้งในธุรกิจฟาร์ม โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และโรงงานผลิตอาหาร โดยบริษัทจะใช้เงินทุนส่วนใหญ่จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับปานกลางในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า