กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
โรคการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาหลอดอาหาร หรือที่นิยมเรียกว่า โรค กรดไหลย้อน ( Gastro-Esophageal Reflux Disease; GERD ) คือภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยใน กระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณ หลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ซึ่งจะตรวจพบได้ประมาน 1 ใน 5 คน พบในคนทั่วไป ทุกกล่ม ทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้มากในคนอ้วน หรือสูบบุหรี่ และการไหลย้อนของกรด ถ้ามีมาก อาจไหลออกนอกหลอดอาหาร อาจทำให้มีผลต่อกล่องเสียง ลำคอ หรือปอดได้ ซึ่งหากละเลยไม่ไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา อาจทำให้เรื้อรังกลายเป็น มะเร็งหลอดอาหาร ได้
จะมีอาการอย่างไร ?
อาการ ในหลอดอาหาร :
• ปวดแสบปวดร้อนในหน้าอก หรือที่เรียกว่า Heart Burn เนื่องจากกรดไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ
• มีอาการจุกแน่นบริเวณหน้าอก เหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ หายใจไม่ออกเวลานอน
• มีอาการเรอเปรี้ยว หรือรู้สึกถึงรสขมของน้ำดี รสเปรี้ยวของกรดในปากหรือลำคอ
• กลืนอาหารลำบาก
• คลื่นไส้
อาการ นอกหลอดอาหาร บริเวณกล่องเสียงและหลอดลม :
• ไอเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง
• เสียงแหบ โดยเฉพาะในตอนเช้า เนื่องจากเวลานอน กรดจะไหลย้อนขึ้นมาได้มาก
• เป็นโรคปอดอักเสบ เจ็บหน้าอก
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน จริงหรือเปล่า ?
วีธีการตรวจแบบเดิม
• การกลืนแป้งตรวจกระเพาะ
• การส่องกล้องตรวจกระเพาะ
เป็นการตรวจเบื้องต้นเพียงแค่ดูความบาดเจ็บของเนื้อเยื่อเท่านั้น ไม่สามารถบอกปริมาณกรดที่ไหลย้อนได้
เทคนิคใหม่ในการตรวจวัดกรดไหลย้อนในหลอดอาหาร
• ตรวจวัดกรดที่หลอดอาหาร 24 ชั่วโมง ด้วยการใส่สายวัดกรดที่หลอดอาหาร เป็นการวินิจฉัยกรดไหลย้อนที่แม่นยำที่สุด
ทำไมต้องตรวจวัดกรดไหลย้อนในหลอดอาหาร ?
การตรวจวัดกรด หรือน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่ไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหารตลอด 24 ชั่วโมง ถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน และเป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยการใส่สายตรวจที่เป็นสายขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 2 มิลลิเมตร ผ่านจมูกแล้วค้างไว้ที่หลอดอาหารนาน 24 ชั่วโมง ที่สายจะมีตัวบันทึกค่าความเป็นกรดนำเข้าเครื่องอ่านเพื่อแปลผล และทราบผลได้ทันที ทำให้ทราบว่า
• อาการที่เป็นใช่โรคกรดไหลย้อนจริงหรือไม่
• มีกรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารเป็นจำนวนครั้ง และระยะเวลานานมากกว่าปกติหรือไม่
• การเกิดกรดไหลย้อนสัมพันธ์กับการเกิดอาการของผู้ป่วยหรือไม่
• การให้ยาเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน สามารถควบคุมโรคได้เพียงพอหรือไม่
ใครบ้างที่ต้องรับการตรวจด้วยเครื่องวัดกรดไหลย้อน (24 hr Gastric pH monitoring) ?
• ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ที่กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
• ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่หยุดยา ลดกรดไม่ได้ อาการจะกำเริบทันที
• ผู้ป่วยอายุน้อยที่ไม่อยาก กินยาต่อไประยะเวลานาน
• ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก คล้ายเป็นโรคหัวใจ แต่ตรวจแล้วว่าไม่เป็นโรคหัวใจ
• ผู้ป่วย ที่มีอาการเสียงแหบเรื้อรัง , เหมือนมีก้อนที่คอ , แสบคอ ที่ได้รับการตรวจแล้วจากแพทย์ หูคอจมูก ไม่พบความผิดปกติใดๆ
• ผู้ ป่วยที่ส่องกล้องแล้วพบว่า ปลายหลอดอาหารมีการอักเสบที่รุนแรง
ขั้นตอนสำคัญอันดับแรกในการรักษาโรค คืออะไร ?
การวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องแม่นยำเสียก่อนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงจะรักษาโรคนั้นให้หายขาดได้ การที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยนี้ ทำให้สามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยโรค กรดไหลย้อนได้อย่างถูกต้อง แน่นอน ทราบผลทันที ต่างจากในอดีตที่ได้แต่ปรับยาไปเรื่อยๆ และยังทำให้การทำนายผลการวินิจฉัยโรคต่างๆ ถูกต้องชัดเจน เป็นข้อมูลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวางแผนดูแลสุขภาพผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ทำให้คุณภาพชีวิต และสภาพจิตใจของผู้ป่วยกรดไหลย้อนจะดีขึ้น