กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน ได้เดินหน้าเข้าจัดระเบียบผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA.) แต่พบว่าผู้ประกอบการบางแห่ง ยังไม่มีความคืบหน้าในการเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้จริง โดยขณะนี้ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) และทั้ง 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟภ. กฟน.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาให้ตรวจสอบสัญญาโดยละเอียด และมีแนวทางดำเนินการจะเข้มงวดใช้มาตรการยกเลิกสัญญาทันที หากพบการกระทำที่ส่อว่าผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วยการจำหน่ายใบอนุญาตต่อ และไม่กระทำตามสัญญา
ทั้งนี้ นอกจากการจัดระเบียบดังกล่าวแล้ว พพ. พบว่า ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนหลายแห่ง แม้จะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA.)แล้ว แต่พบว่ายังไม่ดำเนินการก่อสร้าง โดยกลุ่มโรงไฟฟ้าเหล่านี้แม้ยังไม่ได้ก่อสร้างจริงแต่จะได้รับสิทธิการเข้าระบบสายส่ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบรองรับไฟฟ้าของสายส่งในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งต้องคำนวนไว้ก่อนเต็มจนไม่สามารถเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าได้
โดยเบื้องต้น พพ. ได้ตรวจสอบข้อมูลของกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในภาคอีสานพบว่ามีโรงไฟฟ้าประมาณ 80 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวมมากกว่า 400 เมกะวัตต์ ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าหรือลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งจะต้องตรวจสอบหาสาเหตุของการที่ยังไม่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ทั้งนี้เพื่อทำให้ระบบสายส่งในพื้นที่ภาคอีสานสามารถรองรับกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อปัญหาเรื่องการเข้าระบบสายส่งดังกล่าวในอนาคต
"พพ. ต้องเร่งแก้ไขปัญหาทั้งระบบของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยเฉพาะปัญหาการรองรับของระบบสายส่งที่เป็นปัญหาใหญ่ จึงต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการทุกแห่งที่ถือสัญญาแล้ว ให้ทำตามเงื่อนไขในสัญญาอย่างเคร่งครัด เพราะหากพบกลุ่มนายทุนที่มองการซื้อขายใบอนุญาตเป็นเรื่องธุรกิจ ไม่จริงใจจะร่วมกับภาครัฐเดินหน้าโครงการไฟฟ้าพลังงานทดแทนจริง หากพบ พพ.จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายึดใบอนุญาตต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจริงได้เข้าระบบผลิตไฟฟ้า" นายธรรมยศกล่าว