กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
บางช่วงชีวิตการทำงานของทุกคนย่อมมีโอกาสพบกับช่วงเวลาที่สภาพจิตใจไม่เปิดรับเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น สภาวะเช่นนี้อาจเรียกสั้นๆ ว่า อาการจิตตก ดังคำกล่าวที่ว่า ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้ทุกวัน ไม่ว่าจะคุณจะเป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน หรือเป็นผู้บริหารระดับสูง บางคนมีช่วงเวลาจิตตกที่ยาวนาน แต่กับอีกคนอาจมีความสามารถในการรับมือและผ่านช่วงเวลาแย่ๆ ไปได้ในเวลาอันสั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อยู่ที่ว่าเราจะมีวิธีต่อสู้กับจิตใจของตัวเองอย่างไร jobsDB ขอเสนอวิธีการดีๆ เพื่อหลบเลี่ยงความเครียด และเอาชนะอุปสรรคในจิตใจง่ายๆ 6 วิธีดังนี้
1. สำรวจต้นตอของปัญหา
ก่อนจะแก้ปัญหา ต้องรู้ที่มาของปัญหาเสียก่อน บางทีปัญหาที่เราพบอาจเป็นปัญหาเล็กน้อย เช่น ต้องย้ายที่นั่งใหม่ไปในจุดที่ไม่พึงปรารถนา จนไปถึงปัญหาใหญ่โตถึงขั้นโดนโยกย้ายไปทำงานที่ไม่ถนัด วิธีการแก้ไขปัญหาก็แตกต่างกันไปตามระดับ บางปัญหาอาจแก้ได้ด้วยตัวเอง บางปัญหาต้องหาทางแก้ด้วยการขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ดังนั้นควรมองต้นตอของปัญหาให้ถ่องแท้ว่าเกิดจากอะไร เพื่อให้หาแนวทางแก้ไขได้ตรงจุด
2. ตรวจสอบทางแก้ไข
เมื่อตอบโจทย์ได้แล้วว่าอะไรคือต้นตอของปัญหา คุณจะเริ่มรู้แล้วว่าต้องแก้ตรงไหน ข้อแนะนำคือ พยายามเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับตนเอง เช่น หากคุณเป็นคนตรงไปตรงมา ควรเลือกที่จะพูดคุยกับคู่กรณีแบบเปิดอก แต่หากอาการจิตตกที่คุณเผชิญอยู่เกิดจากคู่กรณีบางคนที่มีผลต่อชีวิตการทำงานของคุณอย่างมาก เช่น หัวหน้างาน หรือลูกน้อง ควรหาวิธีปรับความเข้าใจ เพื่อละลายต้นตอของปัญหาให้สามารถร่วมงานอย่างใกล้ชิดได้ แต่ขณะที่บางคนก็เลือกที่จะทิ้งปัญหาไว้เบื้องหลัง ปล่อยให้เวลาเยียวยา และเมื่อถึงจุดหนึ่งจิตใจผ่อนคลาย อาการจิตตกที่เคยมีจะคลี่คลายไปในทางที่ดีด้วยตัวของมันเอง
3. เปลี่ยนมุมมองจากที่นั่งใหม่
บางทีการที่เราเกิดอาการจิตตก อาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกอุดอู้หรือจำเจกับสภาพแวดล้อมรอบตัว จนทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย การย้ายที่นั่งจะทำให้คุณได้สัมผัสบรรยากาศใหม่ เห็นมุมมองใหม่ๆ ของออฟฟิศ การสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ในการทำงานจึงมีส่วนช่วยกระตุ้นความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้น ลดทอนอาการจิตตกของคุณให้ทุเลาลงได้เป็นอย่างดี
4. จัดโต๊ะทำงาน
บางออฟฟิศอาจไม่สามารถเคลื่อนย้ายที่นั่งได้เองตามใจชอบ การจัดโต๊ะใหม่จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งเพราะโต๊ะทำงานเป็นพื้นที่ที่เราจะต้องใช้ในชีวิตการทำงานอยู่ประจำขั้นต่ำ 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ จึงเป็นพื้นที่ที่มีผลต่อจิตใจคุณมากไม่แพ้ห้องนอนที่บ้านของคุณ หลักการง่ายๆ คือ มองหาสิ่งของที่ไม่จำเป็น จับโยนเข้ากล่องบ้าง ลงถังขยะบ้าง ส่วนอะไรที่อยากเก็บไว้ ก็เอามาจัดใหม่ให้เป็นหมวดหมู่ เช็ดถูตู้โต๊ะให้ดูสะอาดตา และสำหรับคนที่เน้นเรื่องหลักความเชื่อตามศาสตร์ต่างๆ อาจเลือกศึกษาตำราฮวงจุ้ยตำแหน่งหรือทิศทางที่เหมาะสมบนโต๊ะทำงาน แล้วนำมาปรับภูมิทัศน์เพื่อเสริมโชคชะตาตามความเชื่อก็เพลิดเพลินไปอีกแบบ ดีไม่ดีจะพลิกโอกาสเปลี่ยนสภาวะจิตตกสู่โอกาสดีๆ ใหม่ ๆ ที่อาจเข้ามาในชีวิตก็เป็นได้
5. เพิ่มเติมความรู้ใหม่
เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ปัญหาจิตตกเท่านั้น แต่ยังเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวอีกด้วย หากคุณมีความสนใจในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษถือว่านี่เป็นโอกาสดีที่คุณจะได้ต่อยอดความรู้ความเข้าใจด้วยการเลือกลงคอร์สเรียนระยะสั้นนอกเวลางาน หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนร่วมงาน ร่วมถกประเด็น ปัญหา ข้อสงสัย เมื่อเราได้เปิดสมองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือเรื่องราวที่เราสนใจ เราจะไม่มีเวลามานั่งคิดหรือหมกตัวเองอยู่ในอารมณ์จิตตก จนอาจทำให้คุณลืมอารมณ์หน่วง ๆ เหล่านั้นไปได้ในที่สุด
6. ทำใจให้สงบในสภาวะอารมณ์นั้น
สุดท้าย เป็นวิธีที่พูดง่าย แต่ทำยากที่สุด คือ อดทนกับช่วงเวลานั้นของตัวเอง บางทีทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้เราจิตตก อาจไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากสภาวะอารมณ์ช่วงหนึ่งของเราที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง เป็นอีกหนึ่งวงจรชีวิตที่เราต้องพบเพื่อให้ผ่านไปได้ เมื่อค้นแล้วไม่เจอสาเหตุก็ไม่มีอะไรต้องให้แก้ ไม่ต้องเสียเวลาขบคิด แค่เพียงอดทนรอเวลาให้ฟ้าสีเทา ผ่านไปเพื่อพบกันวันที่ฟ้าสดในเท่านั้นเอง