กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมประชุมระดมสมองเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่แบบบูรณาการ ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นำทีมโดย อาจารย์ ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี เป็นวิทยากรในการดำเนินกิจกรรม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้อง T Meeting Room โรงแรม อีสติน ตัน เชียงใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ที่เข้าร่วมกิจกรรมและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายมงคล สุกใส เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม และกล่าวรายงานโดย นายสง่า บัวระดก หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาระบบบริหารจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่แบบบูรณาการ ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหมอกควันฯ และมอบหมายให้ ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบบริหารจัดการและจัดตั้งศูนย์ข้อมูลรวมถึงการปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะจัดทำระบบรวบรวมข้อมูลของส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งมีขั้นตอนและกระบวนการเชิงวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในเชิงนโยบายและเชิงยุทธศาสตร์ของผู้บริหารจังหวัด
กิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นการระดมสมองเพื่อรวบรวมฐานข้อมูลที่จะนำมาพัฒนาระบบบริหารจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่แบบบูรณาการเพื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่โดยเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าได้ในระยะยาว ทั้งยังเป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการของจังหวัดแบบบูรณาการให้สามารถจัดการภัยพิบัติและสาธารณภัยอื่นๆ ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย