กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--บีโอไอ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามเอ็มโอยูระหว่างบีโอไอ-เมืองฮามามัตสึ จากญี่ปุ่น พร้อมเชิญชวนนักลงทุนร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ในโอกาสที่ไทยเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี-นวัตกรรม และส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษในลักษณะคลัสเตอร์ ด้านเลขาฯบีโอไอ ชี้ญี่ปุ่นลงทุนในไทยสูงสุดต่อเนื่องกว่า 20 ปี มั่นใจยังเป็นฐานผลิตสำคัญรับแนวโน้มขยายลงทุนกลุ่มยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วนไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และนายยาสุโตโมะ ซูซูกิ (Mr. Yasutomo Suzuki) นายกเทศมนตรี เมืองฮามามัตสึ ประเทศญี่ปุ่น ว่า ทั้งสองหน่วยงาน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจที่จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนแก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งในส่วนของรัฐบาลจะได้ใช้โอกาสนี้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นพิจารณาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ในประเทศไทย และเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีนี้ ประเทศไทยได้ปรับระบบเศรษฐกิจจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เน้นผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก มาสู่การผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ขณะเดียวกันยังมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในลักษณะของกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมให้เป็นเขตอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ โดยมีกลุ่มคลัสเตอร์ที่สำคัญ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันกับโอกาสทางธุรกิจที่จะมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 ควบคู่ไปกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อรองรับการยกระดับทางเศรษฐกิจของประเทศ
"การลงทุนจากญี่ปุ่นมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยมายาวนาน ดังนั้นการลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ จึงคาดว่าจะยิ่งก่อให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น" นางอรรชกา กล่าว
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า เมืองฮามามัตสึ เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่น และมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และบีโอไอจำนวนมาก เช่น ยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีนักลงทุนจากเมืองฮามามัตสึที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 66 บริษัท เช่น บริษัท ซูซุกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ผลิตรถจักรยานยนต์ บริษัทโรแลนด์ ดิจิตอล กรุ๊ป (ประเทศไทย) ผลิตเครื่องพิมพ์เอกสาร (Printer) ระบบ 3D และบริษัทไทย อาซาฮี เดนโซ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ที่ผ่านมา บีโอไอ และเมืองฮามามัตสึ ได้จัดให้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการนำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาศึกษาลู่ทางลงทุนในไทย การจัดสัมมนาด้านการลงทุนของไทยในเมืองฮามามัตสึ อย่างไรก็ตามการลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของสองหน่วยงานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงจะส่งเสริมความร่วมมือของสองหน่วยงานผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน และการสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยและบริษัทไทยที่ไปลงทุนในเมืองฮามามัตสึในอนาคต
"นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังมีโอกาสขยายการลงทุนในประเทศไทยอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี ที่จะทำให้เกิดตลาดขนาดใหญ่และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆเพิ่มขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรซึ่งเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงของไทย เพื่อยกระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ชนิดต่างๆที่ใช้เป็นชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์อีกหลายประเภท" นางหิรัญญา กล่าว
สำหรับประเทศญี่ปุ่น เป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนสูงสุดในประเทศไทยติดต่อกันมากว่า 20 ปี ในปี 2557 ที่ผ่านมา สัดส่วนการลงทุนจากญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 35 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดยลงทุนในสาขายานยนต์และชิ้นส่วนเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยเครื่องจักรและชิ้นส่วนโลหะ และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ