กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--กสทช.
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 26/2558 วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2558 มีวาระการประชุมที่น่าจับตาคือเรื่องที่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ฟ้องศาลปกครองกลางว่ามติที่ประชุม กทค. ที่ตัดสินให้บริษัทฯ สิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการเพราะไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงภายใน 60 วันนั้น เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากที่มีผู้บริโภครายหนึ่งร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ว่าบริษัท AIS คิดค่าบริการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ผิดพลาด โดยมีการเรียกเก็บค่าบริการใน 3 รอบบิลสูงถึงกว่า 12,000 บาท ทั้งที่โดยปกติมีค่าใช้บริการหมายเลขดังกล่าวประมาณเดือนละ 300 – 400 บาทเท่านั้น ซึ่งบริษัท AIS ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยการแสดงหลักฐานบันทึกรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ (Call Detail Record) เพื่อยืนยันความถูกต้องของการเรียกเก็บค่าบริการภายในระยะเวลา 60 วัน ตามข้อ 22 วรรคสอง ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 7/2558 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 จึงมีมติให้บริษัทฯ สิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการในส่วนที่เกินจากรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคได้เคยสมัครไว้ นั่นคือบริษัทฯ มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการตามรายการส่งเสริมการขายเดือนละ 200 บาทเท่านั้น
สำหรับข้อพิพาทในเรื่องนี้ บริษัทฯ พยายามโต้แย้งมติดังกล่าวต่อศาลด้วยการอ้างประกาศ กทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ว่าประกาศกำหนดให้จัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการใช้บริการนับจากวันที่บริการในปัจจุบัน และในกรณีที่การให้บริการสิ้นสุดลง ให้เก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับถัดจากวันที่สิ้นสุดสัญญาการให้บริการ แต่กรณีนี้ผู้บริโภคมีการร้องเรียนล่าช้า ประกอบกับการพิจารณาแก้ไขปัญหาของสำนักงาน กสทช. ใช้เวลานาน จึงทำให้บริษัทฯ ไม่ได้จัดเก็บหลักฐานเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกข้อมูลรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. เห็นว่า ข้ออ้างของบริษัทฯ นั้นไม่สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการยกเว้นภาระหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องตามประกาศเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมได้ ถือเป็นหน้าที่ที่บริษัทฯ ต้องพิสูจน์หลักฐานเชิงระบบให้ได้ว่าผู้ใช้บริการได้ใช้บริการในจำนวนดังกล่าวจริง ไม่ใช่เพียงการจัดส่งเอกสารใบแจ้งหนี้และทำหนังสือยืนยันความถูกต้องของการเรียกเก็บค่าบริการมาชี้แจงเท่านั้น ส่วนประเด็นที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลาในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงไว้ด้วยนั้น ก็เพื่อมิให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีการประวิงเวลาด้วยการส่งหนังสือชี้แจงไปเรื่อยๆ แต่ไม่จัดส่งหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง จนในที่สุดไม่เกิดการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภค
วาระนี้นับว่าน่าจับตาอย่างยิ่งว่าที่ประชุม กทค. จะมีแนวทางในการต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างไร เพราะถ้าหากผลปลายทางของกรณีเรื่องร้องเรียนนี้พลิก แน่นอนว่าย่อมส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในอนาคต