กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เตรียมออกผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เน้นเบี้ยประกันภัยต่ำ
นายจรัญ สอนสวัสดิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายส่งเสริม สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมการจัดตั้งคณะทำงานจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ทั้งนี้คาดว่า ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน จะออกได้ประมาณปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559
ปัจจุบัน มีกองทุนหมู่บ้านกว่า 7 หมื่นกองทุนทั่วประเทศ และมีสมาชิกกองทุนหมู่บ้านราว 13 ล้านคน โดยรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชน และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มหนึ่ง ที่รัฐบาลจะส่งงบประมาณผ่านกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้สมาชิกได้กู้ยืมไปใช้ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ
"เมื่อมีการกู้ ก็ต้องมีการชำระคืน ถ้าเกิดสมาชิกกองทุนฯ เขาเสียชีวิตไป หรือทุพพลภาพ ภาระที่กู้จะตกกับทายาท ขณะเดียวกันกองทุนหมู่บ้านก็ต้องดำเนินการไล่เบี้ยตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น สำนักงาน คปภ. มองว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ทั้งสองฝ่าย คือ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน และกองทุนหมู่บ้าน เขามีเครื่องมือบริหารความเสี่ยง" ผู้ช่วยเลขาธิการ คปภ.กล่าว
นายจรัญ กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่เตรียมดำเนินการอยู่นั้น จะมีลักษณะเบี้ยประกันภัยไม่สูง คุ้มครองจำนวนเงินกู้ยืม เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับเงินที่กองทุนปล่อยให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน โดยให้ความคุ้มครองกรณีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งสำนักงาน คปภ.จะนำการประกันภัยดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไมโครอินชัวรันส์ด้วย
"ในทางปฏิบัติต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของนโยบาย คงต้องให้สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันภัยเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการนี้ด้วย แม้เบี้ยประกันภัยจะไม่มาก แต่เป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม" นายจรัญ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012