กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--หอการค้าไทย
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทุกภาคส่วนจึงเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งหอการค้าฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน จึงได้กำหนดให้เป็น พันธกิจหลัก 1 ใน 3 ขององค์กร "ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างธรรมภิบาล และรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน"ที่ผ่านมาหอการค้าทั่วประเทศได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกร ซึ่งมีการดำเนินงานผ่าน 2 โครงการหลัก ได้แก่ "โครงการทำนา 1 ไร่ได้เงิน1 แสน" ครอบคลุมพื้นที่ 67 จังหวัด และ "โครงการ 1 บริษัท ดูแลอย่างน้อย 1 ชุมชน" จำนวน 133 โครงการ ซึ่งอยู่ในการดูแลของสมาชิกหอการค้าฯ 69 บริษัท ในพื้นที่ 59 จังหวัด
นายอิสระ กล่าวว่า ระบบสหกรณ์การเกษตรของไทยมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปัจจุบันมีจำนวนสหกรณ์การเกษตรกว่า 3,800 แห่ง มีสมาชิกกว่า 6 ล้านคน และเงินทุนดำเนินงานประมาณ 2.3 แสนล้านบาทต่อปี แต่การบริหารจัดการระบบสหกรณ์ยังขาดความเข้มแข็ง สมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีความรู้เฉพาะด้านการเกษตร ยังมีช่องว่างในการปรับปรุงพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การทำการตลาดตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า (Move Up the Value Chain) หากเกษตรกรได้มีการพัฒนาในส่วนนี้ จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงในชีวิตที่ดีขึ้น จะเกิดประโยชน์ต่อสมาชิกสหกรณ์ และต่อเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างมหาศาล
หอการค้าฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของระบบสหกรณ์ฯ จึงได้ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรผ่าน โครงการ "1 หอการค้า ดูแลอย่างน้อย 1 สหกรณ์การเกษตร ซึ่งจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการของภาคธุรกิจ เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ทำการวิจัย และนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ในขณะนี้ ได้เข้าไปช่วยเหลือสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมกับหอการค้าจังหวัดและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาระยะหนึ่งแล้ว และประสบผลสำเร็จ ซึ่งหอการค้าไทยมีเป้าหมายที่จะเข้าไปดูแล 100 สหกรณ์ ภายในปี พ.ศ. 2559
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สหกรณ์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร หากสามารถดำเนินงานตามระบบแล้ว สหกรณ์จะเป็นหน่วยขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการ 1 หอการค้า ดูแลอย่างน้อย 1 สหกรณ์การเกษตร นั้น หอการค้าไทยจะเข้าไปช่วยเหลือ หรือขับเคลื่อนเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ จะต้องมีเครือข่ายร่วมเข้าร่วมดำเนินงานในหลาย ๆภาคส่วน โดยขณะนี้ หน่วยงานที่สำคัญ คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่จะเป็นหน่วยงานกลาง ในการประสานงานในการเข้าไปดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด ในขณะนี้ มีสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 29 แห่ง โดยมีหอการค้าจังหวัดดูแลรับผิดชอบ จำนวน 17 หอการค้าจังหวัด
นายสมเกียรติ กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดที่ได้เริ่มดำเนินโครงการต้นแบบ ได้แก่ หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก มีรูปแบบ การพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตามตลาดที่ต้องการ โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่การดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน และกำหนดขั้นตอนข้อปฏิบัติของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ และมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโรงการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ประมาณ 34 เปอร์เซนต์
นอกจากนี้ ยังมีหอการค้าจังหวัดอ่างทอง ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบ การตลาด นำการผลิต โดยจะใช้วิธีการสำรวจปริมาณความต้องการตลาด เพื่อนำมาให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีการผลิตสินค้าตามปริมาณของตลาด และได้ขยายพื้นที่ไปในหลายจังหวัดด้วยกัน
นางนุชจรินทร์ ศรีทองพนาบูลย์ ประธานอาวุโส หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ได้ริเริ่มดำเนินการโครงการเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา จนประสบผลสำเร็จได้ โดยเริ่มต้นมาจากสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม และสหกรณ์การเกษตรนิคมบางระกำ ประสบปัญหาในการดำเนินงาน และเข้ามาขอความช่วยเหลือจากหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นดำเนินงาน โดยผ่านโครงการ "ผลิตข้าวคุณภาพ ตลาดทางเลือกของชาวนาผ่านกลไกสหกรณ์ ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ของ กอ.รมน. ที่มีการควบคุมการผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม สูงขึ้นประมาณ 34 เปอร์เซนต์
คณะทำงานได้ขยายผลโครงการ ฯ ไปยังสหกรณ์การเกษตรภายในกลุ่มจังหวัดของภาคเหนือ โดยมีสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย สหกรณ์วังชิ้น จังหวัดแพร่, สหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์, สหกรณ์การเกษตรลับแล, สหกรณ์การเกษตรตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์, สหกรณ์การเกษตรหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์, สหกรณ์การเกษตรสามง่าม จังหวัดพิจิตร, สหกรณ์การเกษตรบ้านตาก จังหวัดตาก และกลุ่มเกษตรกรการผลิตข้าวอินทรีย์ จังหวัดนครสวรรค์
นายศุภนิตย์ มานะจิตต์ กรรมการคณะกรรมการลดความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจพอเพียง หอการค้าไทยกล่าวว่า เป้าหมายของการจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตและยกระดับคุณภาพ เพิ่มรายได้และลดต้นทุน ในส่วนของการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์สำหรับอ้อย นั้น การรวมกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็ก เข้ามารวมกลุ่มกันเพื่อที่โรงงานสามารถเข้าไปพัฒนาและให้การสนับสนุนได้สะดวก เช่น การสนับสนุนเงินทุนผ่านระบบสินเชื่อของโรงงานน้ำตาล , การสนับสนุนปัจจัยการผลิต , การรวมกลุ่มสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ หากมีการรวมกลุ่มจะทำให้สามารถต่อรองได้ และต้นทุนต่ำลง รวมทั้งการที่โรงงานเข้าไปช่วย เช่น การจัดตั้งสถานีขนถ่ายย่อย ชาวไร่อ้อยจึงสามารถตัดอ้อยได้เอง ช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน , การขอรับการสนับสนุนเรื่องระบบน้ำ เช่น เรื่องการขอรับการช่วยเหลือเรื่องระบบชลประทาน หากมีการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำของสหกรณ์สามารถเจรจากับปั้มน้ำมันเรื่องขอลดราคาค่าน้ำมันได้ โดยโรงงานเข้าไปรับรองให้ความมั่นใจในเรื่องการชำระเงินให้
สำหรับตัวอย่างของการสนับสนุนสหกรณ์ชาวไร่อ้อย รวมสมาชิกสหกรณ์ชาวไร่อ้อยจำนวนประมาณ 5,000 ราย ได้แก่ สหกรณ์ลำน้ำพรม มีสมาชิกจำนวน 2,877 ราย , สหกรณ์ขอนแก่น มีสมาชิกจำนวน 1,097 ราย ,และสหกรณ์เลย มีสมาชิกจำนวน 920 รายหมายที่จะเข้าไปดูแล 100สหกรณ์ ภายในปี พ.ศ. 2559