กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--Ripple Effect
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผนึกกำลังร่วมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานการศึกษาจังหวัดขอนแก่น จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสะเต็ม ภายใต้โครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อยกระดับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทุกพื้นที่ในจังหวัด
นายไพโรจน์ กวียานนท์ ประธานกรรมการบริหาร เชฟรอนประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ "Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" ว่า "ขณะนี้ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานด้านการศึกษาจังหวัดขอนแก่น จัดตั้ง "คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสะเต็มระดับจังหวัด" โดยมีภารกิจสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในจังหวัด โดยคณะกรรมการฯ ดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ทั้งการอบรมพัฒนาศักยภาพ การแลกเปลี่ยนความรู้ การสนับสนุนด้านวิชาการ ให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนหลังผ่านพ้นระยะเวลา 5 ปีที่ดำเนินโครงการเสร็จสิ้นเพื่อนำไปสู่การยกระดับการศึกษาไทย โดยเฉพาะการศึกษากลุ่มวิชาสะเต็ม ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากรและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ"
สำหรับความคืบหน้าของโครงการ Enjoy Science ในปีแรก ทางจังหวัดขอนแก่นได้นำหลักสูตร คู่มือ และอุปกรณ์การสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติเข้ามาฝึกอบรมให้กับครูกว่า 300 คนจาก 123 โรงเรียน ซึ่งครอบคลุมทุกเขตการศึกษาของจังหวัดขอนแก่น โดยคุณครูที่ร่วมโครงการฯ จะได้เริ่มนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในภาคเรียนที่สองปีการศึกษา 2558 นี้
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันในจังหวัดสมุทรปราการและสงขลา ที่เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของแต่ละภูมิภาค เพื่อวางรากฐานและสร้างเครือข่ายการศึกษาที่เข้มแข็งก่อนขยายสู่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในฐานะผู้บริหารโครงการ Enjoy Science กล่าวถึงรูปแบบโมเดลที่ใช้ในการพัฒนาการศึกษาสะเต็มว่า คีนันได้นำหลักสูตรสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ หรือ Inquiry-based learning โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยและจาก Teachers College, Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้ในการอบรมและพัฒนาครู โดยคีนันเคยร่วมดำเนินโครงการกับเชฟรอนในการนำร่องใช้หลักสูตรการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ กับโรงเรียนมัธยมต้นในจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพรเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ครูผู้สอน และผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นหน่วยการเรียนรู้นี้ช่วยให้ครูผู้สอนที่ไม่ได้มีความรู้อย่างลึกซึ้งด้านวิทยาศาสตร์ สามารถรับการฝึกฝนและใช้หน่วยการเรียนรู้นี้เพื่อนำไปจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญจาก Teachers College เคยพัฒนางานวิจัยถึงผลสำเร็จของการการใช้หน่วยการเรียนรู้ดังกล่าวว่า มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยใช้คะแนน ONET เป็นตัววัด
นายศิวาโรจน์ มุ่งหมายผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสะเต็ม ประจำจังหวัดขอนแก่น ถือเป็นการสร้างคลัสเตอร์ด้านการศึกษาครั้งสำคัญ ที่จะช่วยเสริมรากฐานทางการศึกษาและพัฒนาคุณภาพบุคลากรให้มีทักษะด้านสะเต็มของจังหวัด นำไปสู่วิสัยทัศน์ของจังหวัดที่ตั้งเป้าเป็นจังหวัดศูนย์กลางของเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขงได้สำเร็จ
สำหรับกรอบดำเนินงานหลักของคณะกรรมการฯ คือ มุ่งทลายข้อจำกัด ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสการศึกษาที่ เท่าเทียมผ่าน 3 แนวทางสำคัญ 1) การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาครูอย่างเป็นเอกภาพโดยไม่แบ่งสังกัด เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันในจังหวัด 2) การจัดสรรงบประมาณที่เท่าเทียมกัน 3) บริหารจัดการและสนับสนุนด้านวิชาการแก่โรงเรียน รวมถึงอุปกรณ์และคู่มือครู-นักเรียนให้ทั่วถึง จึงมั่นใจว่าการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดขอนแก่นได้อย่างแท้จริง
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมร่วมเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและการจัดการเพื่อยกระดับการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็ม ในจังหวัดขอนแก่น ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแก่บุคลากรที่เข้าร่วมโครงการ ติดตามสนับสนุน และสร้างเครือข่ายครูและผู้นำทางการศึกษาให้เกิดความเข้มแข็ง ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับโรงเรียน อีกทั้งช่วยในการบริหารจัดการสื่อและอุปกรณ์ในโครงการ และร่วมกำหนดแผนดำเนินงานระยะยาวหลังเสร็จสิ้นโครงการ เพื่อวางรากฐาน พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายครู วิทยากรของโครงการ Enjoy Science ให้มีความแข็งแรงยั่งยืนต่อไป
อนึ่ง โครงการ "Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" โดยความร่วมมือของเชฟรอนประเทศไทย สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และ 7 องค์กรภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบาย "รัฐร่วมเอกชน" ของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์ในการมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาการศึกษากลุ่มวิชาสะเต็ม (STEM : วิทยาศาสตร์,เทคโนโลยี,วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) โดยโครงการฯ จัดกิจกรรมสนับสนุนการศึกษาเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งเป้าพัฒนาคุณภาพประชากรในหลากหลายกลุ่ม ทั้งครูประจำการ นักศึกษาวิชาชีพครู นักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และบุคลากรด้านต่างๆ ประมาณ 500,000 คน