กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ชมรมผู้ป่วยโรคหืดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันพลาสติก เดินหน้าสานลมหายใจช่วยผู้ป่วยโรคหืด จัดโครงการ "ลมหายใจแห่งรักสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" แจกจ่าย Thai Kid's Spacer 1,500 ชิ้น พร้อมกับให้ความรู้ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติแก่ทีมแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรในพื้นที่ เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 88 พรรษา
รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แจ้งว่า ฯพณฯ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี ได้มอบหมายให้ ชมรมผู้ป่วยโรคหืดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นำทีมโดย รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ประธานชมรมผู้ป่วยโรคหืดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันพลาสติก จัดโครงการ "ลมหายใจแห่งรักสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ในวันที่ 26 ตุลาคม 2558 เวลา 13.00-16.30 น. ณ โรงพยาบาลปัตตานี จ.ปัตตานี เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 88 พรรษา และเพื่อให้ผู้ป่วยโรคหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่อยู่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับอุปกรณ์ช่วยพ่นยาไปใช้รักษาโรคดังกล่าวให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมการส่งมอบอุปกรณ์ช่วยพ่นยา และกิจกรรมการให้ความรู้ในภาควิชาการและภาคปฏิบัติแก่ทีมแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างสรรค์สังคมที่รวมพลังน้ำใจลงไปสู่ผู้ป่วยโรคหืด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังเป็นการขยายเครือข่ายทีมดูแลผู้ป่วยโรคหืดอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ DIY Spacer ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 70 แห่ง ซึ่งทางชมรมผู้ป่วยโรคหืดฯ ได้แจกจ่ายฟรีไปแล้วกว่า 10,000 ชิ้น โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และล่าสุดคืออุปกรณ์ช่วยพ่นยา Thai Kid's Spacer ที่พัฒนาร่วมกันระหว่างชมรมผู้ป่วยโรคหืดฯ และสถาบันพลาสติก โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอุตสาหกรรมไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากที่ได้แจกจ่ายอุปกรณ์พ่นยาดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้วแต่ก็ยังไม่ทั่วถึง ทีมงานจึงมีแนวคิดที่จะนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ป่วยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ช่วยพ่นยา อีกทั้งยังขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความรู้ด้านนี้ โดยกลุ่มเป้าหมายในโครงการนี้คือ ทีมแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรโรงพยาบาลในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ โรงพยาบาลกรงปินัง โรงพยาบาลกาบัง โรงพยาบาลธารโต โรงพยาบาลบันนังสตา โรงพยาบาลรามัน โรงพยาบาลยะหา โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลเบตง โรงพยาบาลนราธิวาส โรงพยาบาลสุไหงโกลก โรงพยาบาลกรือเสาะ โรงพยาบาลศรีสาคร โรงพยาบาลบาเจาะ โรงพยาบาลยี่งอ โรงพยาบาลระแงะ โรงพยาบาล สุไหงปาดี โรงพยาบาลตากใบ โรงพยาบาลแว้ง โรงพยาบาลสุคิริน โรงพยาบาลจะแนะ โรงพยาบาลเจาะไอร้อง โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลแม่ลาน โรงพยาบาลโคกโพธิ์ โรงพยาบาลไม้แก่น โรงพยาบาลกะพ้อ โรงพยาบาลทุ่งยางแดง โรงพยาบาลปะนาเระ โรงพยาบาลมายอ โรงพยาบาลยะรัง โรงพยาบาลยะหร่า โรงพยาบาลสายบุรี โรงพยาบาลหนองจิก เป็นต้น
รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ประธานชมรมผู้ป่วยโรคหืดฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดถึง 4 ล้านคนที่ต้องใช้ยาพ่น pMDI ซึ่งใช้สำหรับผู้ป่วยโรคหืด โดยยาตัวนี้ในผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์ช่วยพ่นยาหรือกระบอกกักเก็บยาที่เรียกว่า "Spacer" แต่เนื่องจากมีราคาแพง ชมรมผู้ป่วยโรคหืดฯ จึงคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยพ่นยา หรือ "Spacer" เรียกว่า DIY Spacer ขึ้นมาซึ่งสามารถทำเองได้ด้วยมือและอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการและประดิษฐ์ไม่ทันการใช้งาน ชมรมผู้ป่วยโรคหืดฯ จึงหารือร่วมกับสถาบันพลาสติก คิดค้นประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยพ่นยา หรือ "Spacer" ขึ้นมาใหม่ใช้ชื่อว่า "Thai Kid's Spacer" ที่มีรูปร่างและลักษณะคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ และสามารถผลิตได้ครั้งละมากๆ ในรูปแบบของอุตสาหกรรมเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานให้แก่ผู้ป่วยโรคหืดและโรงพยาบาลเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งต่อมามูลนิธิอุตสาหกรรมไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและให้ทุนสนับสนุนการผลิตรวมทั้งสิ้น 5,000 ชิ้น โดยจะนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยโรคหืดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชิ้น คาดว่าในอนาคตผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าวในการดูแลรักษาโรคหืดทั่วประเทศ
สำหรับ "DIY Spacer" และ "Thai Kid's Spacer" นั้น เป็นอุปกรณ์ช่วยพ่นยาสำหรับใช้ในผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้ช่วยรักษาโรคระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะโรคหืดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์พ่นยาชนิดนี้มีระดับการควบคุมโรคไม่ต่างจากอุปกรณ์นำเข้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ทำให้ช่วยลดปริมาณการใช้ยาลงได้ เนื่องจากการพ่นยาที่ถูกต้องถูกวิธีจะเพิ่มปริมาณยาที่เข้าไปสู่ปอดได้มากและช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลในอัตราที่น่าพึงพอใจ ซึ่งพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพ่นยาที่ไม่ถูกต้องไม่ถูกวิธีจึงทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการแย่ลง นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในประเทศที่ภาครัฐต้องแบกภาระอีกด้วย ทั้งนี้ "DIY Spacer" ได้รับรางวัลในระดับชาติและไปคว้ารางวัลในเวทีโลกมาแล้วหลายครั้ง