กรมวิทย์ฯ พัฒนาศักยภาพการตรวจเฝ้าระวังโรคติดเชื้อบักเตรีลำไส้ที่เป็นปัญหาใหม่

ข่าวทั่วไป Monday March 2, 1998 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังโรคติดเชื้อบักเตรีลำไส้ เช่น ไข้ไทฟอยด์ ที่อาจกลับมาระบาดใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน Southeast Asian Medical Information Center and International Medical Foundalion of Japan (SEAMIC/IMFJ) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การตรวจวินิจฉัยโรคบักเตรีลำไส้ที่เป็นปัญหาใหม่ทางห้องปฏิบัติการ" เพื่อพัฒนาศักยภาพ และยกระดับห้องปฏิบัติการชันสูตรของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถตรวจวินิจฉัยเชื้อบักเตรีลำไส้ที่ก่อโรคซึ่งเป็นปัญหาใหม่ ระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เปิดเผยหลังจากเป็นประธาน ในพิธีแจกประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรม เรื่อง "การตรวจวินิจฉัยโรคบักเตรีลำไส้ที่เป็นปัญหาสาธารสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อบักเตรีลำไส้ที่กลับมาระบาดใหม่ เช่น โรคไข้ทัยฟอยด์ พาราทัยฟอยด์ และอีโคไล O157: H7 เป็นต้น การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุของโรคอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องแม่นยำ ทำให้สามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี การศึกษาโรคติดเชื้อที่สำคัญ ๆ ในปัจจุบัน ได้มีการนำวิชาอณูชีววิทยามาใช้ในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพทุกสาขา เช่น การศึกษายีนส์ที่มีจำนวนมากมายของไวรัส บักเตรี รา พืชและสัตว์ หรือแม้กระทั่งในคน ซึ่งความรู้และเทคนิคในด้านนี้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบสำหรับประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตระหนักถึงความสำคัญในการปรับพื้นฐาน เพิ่มพูน และฟื้นฟูความรู้ทางวิชาการและเทคนิคใหม่ ๆ ในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อบักเตรีลำไส้ ประกอบกับทาง SEAMIC/IMFJ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อบักเตรีลำไส้ทางห้องปฏิบัติการ จึงได้ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านงบประมาณ และส่งผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นมาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ร่วมกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า การอบรมครั้งนี้นับว่าเป็นการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการชันสูตรสาธารณสุขของประเทศ ให้มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อบักเตรีลำไส้ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีความรวดเร็วถูกต้อง และแม่นยำ นอกจากจะช่วยให้การรักษาโรคได้ถูกต้องนำไปสู่การป้องกันและเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในชุมชนได้แล้ว ยังเกิดผลดีต่อประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คือช่วยประหยัดเงินตราที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ช่วยลดอัตราการติดเชื้อ และอัตราการตายของผู้ป่วยอีกด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ