กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--syllable
BIG+BIH ตุลาคม 2558 เนรมิตพื้นที่ในฝัน อัดแน่นด้วยผลิตภัณฑ์งานออกแบบในกลุ่มอุตสาหกรรม Hospitality หรืองานออกแบบเพื่อการตกแต่งในโรงแรม ไนท์คลับ บ้าน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นำเสนอคอลเลคชั่นใหม่ระดับไฮเอนด์จากนักออกแบบไทยระดับแนวหน้า ตอบรับพฤติกรรมผู้ซื้อที่กำลังเป็นเทรนด์และกระแสของตลาดโลก
H.O.T. หรือ Hospitality Objects Thailand ในงานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้านเดือนตุลาคม 2558 (BIG+BIH October 2015) โซนแสดงสินค้าดีไซน์สุดล้ำที่เหล่าบายเออร์จับตามอง กลับมาอีกครั้งในปีนี้ในธีมของ "d´ECOTOPIA" รวมเอาของดีไซน์แบรนด์ดังของไทยมาจัดแสดงกว่า 172 คูหาเต็มพื้นที่ฮอลล์ 105 ของศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค จนถึงวันที่ 23 ตุลาคมนี้
ผศ. เอกรัตน์ วงษ์จริต อุปนายก สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ (Design and Objects Association หรือ D&O) เล่าถึงธีมของโซน H.O.T. ว่า"Deco หมายถึง การตกแต่ง ส่วน Eco มาจากคำว่า Ecology หมายถึงนิเวศวิทยา และ Utopia หมายถึง ดินแดนในอุดมคติ" ทั้งนี้ บูทจัดแสดงใน H.O.T. จะเป็นบูทของเหล่าผู้ประกอบการและผู้ส่งออกซึ่งเป็นสมาชิกของ D&O ซึ่งเป็นสมาคมที่มีบทบาทในการผลักดันส่งเสริมในเรื่องของการส่งออกให้กับนักออกแบบไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542
สินค้าจัดแสดงในส่วน H.O.T ล้วนเป็นงานออกแบบที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์มีประสบการณ์การส่งออกและทำการค้ากับต่างประเทศแทบทั้งสั้น และจัดเป็นหัตถศิลป์ หรืองาน Crafts ที่เป็นกลุ่มไฮเอนด์
"ธีมและผลิตภัณฑ์ในปีนี้สะท้อนถึงพฤติกรรมของคนทั่วโลก จะมีงานออกแบบที่เน้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น เส้นใยธรรมชาติที่มาจากพืชเศรษฐกิจที่ปลูกขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการนำมาทำผลิตภัณฑ์หลากหลายอย่าง พืชที่มีวงจรเกี่ยวเนื่องกับหลายจุดในวิถีชีวิต ตั้งแต่อาหารการกินและไปจนถึงของดีไซน์และของตกแต่งบ้าน โดยนับจากนี้ไปงานออกแบบจะก้าวจากหัตถอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น"
"แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกจะไม่ค่อยดี แต่ตราบใดที่คนยังบริโภคและใช้สินค้า เราก็ไปดูพฤติกรรมผู้บริโภคและผลิตของที่ตรงกับความต้องการ ทั้งนี้ ราคาอาจจะถูกลง และต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง"ผ.ศ.เอกรัตน์ กล่าว
กรินทร์ พิศลยบุตร Creative Director แบรนด์ ¨Yarnnakarn¨ ซึ่งร่วมจัดแสดงในโซน H.O.T ในปีนี้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่จับตา สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์ของตนเองด้วยงานเซรามิกรูปสัตว์ตกแต่งโทนสีขาวหลากหลายขนาด ชิ้นงานโชว์เนื้อดินออกมาตามลวดลาย จากการเคลือบด้วยสารที่คิดค้นขึ้นเองซึ่งมีความไหลตัวพอดี งานหลายชิ้นที่ตกแต่งเป็น Wall Art หรือศิลปะตกแต่งฝาผนัง หรือชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์เช่น มือจับลิ้นชักชิ้นงาม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าที่ทำ Interior Project ตกแต่งบ้านหรือร้านอาหาร
"งานเราเป็นงานสตูดิโอ งานทดลองที่ดูเบี้ยวๆ เสียๆ มีเคลือบไม่เหมือนกัน เป็น Quality ที่น่าสนใจ ต่างจากงานในโรงงานใหญ่ๆ หากเรียกตามภาษาโรงงานเรียกได้ว่าเป็นของ Defect แต่เราชอบตรงนี้ เราพยายามทำให้ตัว Craftsmanship หรืองานหัตถศิลป์ ให้เป็นกึ่งอุตสาหกรรมได้ด้วย ต้องผนวกกันทั้งรื่องเทคนิคและการผลิตเพราะเราต้องการจะไปให้ได้ไกล พยายามจะคิดสูตรดิน สูตรเคลือบ และวิธีการเผา งานเหมือนเป็น Sculpture ในตัว เราพยายามมองภาพรวม พยายามมองเป็นเรื่อง Display Installation" กรินทร์ กล่าว
งานทุกชิ้นจากสตูดิโอ Yarnnakarn ไม่ได้ทำออกมาเป็นบล็อกสำเร็จ แต่มีการจบหรือ finishing ด้วยมือ และมีการตัด ติด ประดับ ชิ้นส่วนเพิ่มเติมเข้าไปทุกชิ้น "เซรามิกเป็นวัสดุที่มีชีวิต เราพยายามเข้าใจในธรรมชาติของมัน มันสวยของมัน ในความที่มันเบี้ยวหรือมีเอฟเฟกต์เลอะๆ" กรินทร์กล่าวเสริม งานของสตูดิโอซึ่งเป็นกึ่ง Lifestyle Shop นี้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ราคาตั้งแต่ชิ้นละ 100 บาทไปจนถึง 50,000 บาท ของตกแต่งทุกชิ้น เช่น ไม้หรือตู้ประกอบขึ้นจากไม้เก่า ประกอบขึ้นเองทั้งหมดเพื่อควบคุมโทนและภาพรวมของผลิตภัณฑ์
"เราพยายามทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ เวลา ระบบนิเวศ ซึ่งเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับคน สิ่งของจะต้อง Connect กับคนประมาณหนึ่ง งานตกแต่งของเราพยายามจะจำลองระบบนิเวศมาไว้" กรินทร์กล่าวทิ้งท้าย
โซน H.O.T ในปีนี้ ยังคงประกอบไปด้วยแบรนด์ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านรุ่นเก๋าๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงแบรนด์ชั้นนำของประเทศไทยในเรื่อง Home Decorative Products อย่าง "Ayodhya"
ธีรพจน์ ธีโรภาส ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ของ Ayodhya พูดถึงคอลเลคชั่นใหม่ซึ่งนำมาจัดแสดงในงาน BIG+BIH ตุลาคมปีนี้ว่า "เรายังคงเน้นที่งานทอ ใช้ Skill การทอของชาวบ้าน มาประกอบกับการดีไซน์ การทอใช้กี่ของชาวบ้าน แต่ให้วัสดุใหม่เข้าไปเพื่อให้ตอบรับกับการต้องการของตลาด และให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน"
งานตกแต่งหลายชิ้น เช่น Wall Art ที่ได้แรงบัลดาลใจมาจากกระติบ หรือ เบาะนั่งลาย "Zigzag" ซึ่งมีที่มาจากลายดอกแก้วซึ่งเป็นลายพื้นบ้านของภาคอีสาน เสื่อกกหรือเสื่อผักตบชวารูปลักษณ์ทันสมัย หรือสตูลที่มีต้นกำเนิดจากดินเผาบ้านด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดสืบเนื่องมาจากโครงการ T-Style : Isaan Object โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ธีรพจน์ เล่าถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานว่า ให้ชาวบ้านทำเป็นชิ้น เพื่อกระจายงานและกำลังการผลิต แล้วทางแบรนด์นำมาประกอบเอง เช่น ชาวบ้านทำเสื่อ ทางแบรนด์นำมาเก็บขอบ และทำสี เพื่อให้ได้คุณภาพส่งออก
งานออกแบบและตกแต่งของ Ayodhya มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกลยุทธ์ของแบรนด์คือการเน้นที่ Accessories ซึ่งให้มีความมีชีวิตชีวา มีกลิ่นอายไทยอยู่เล็กน้อย เฟอร์นิเจอร์มีคาแร็กเตอร์ที่สบายๆ ผลิตภัณฑ์ตอบรับกับ Culture ของชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ Lounge ตัวโตๆ กระจกตกแต่ง หรือพรม เน้นความสบายและผ่อนคลาย
เบาะนั่ง Bean bag ซึ่งเป็นสินค้าที่โดดเด่นของแบรนด์และเป็นที่ถูกใจของตลาดมาระยะหนึ่ง มีการจัดทำคอลเล็กชั่นใหม่เป็นลวดลายอีสาน โดยใช้วัสดุทอเป็นพลาสติก เนื่องจากตลาดกำลังต้องการเฟอร์นิเจอร์เอาท์ดอร์ เทรนด์ของโลกคือผู้คนต้องการการผ่อนคลายมากขึ้น พลาสติกจึงตอบโจทย์สำหรับการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทนแดดและฝน รองรับการตกแต่งตามรีสอร์ทริมทะเลและในป่าเขา
ทั้งนี้ วัสดุธรรมชาติอย่าง กก ไผ่ ผักตบชวา ดินเผา หรือกาบหมาก ไปจนถึง กระดาษรีไซเคิล กระดาษสา กระดาษมัลเบอร์รี่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ ก็ยังคงเป็นวัสดุหลักในงานออกแบบของแบรนด์
BIG+BIH October 2015 จัดถึงวันที่ 23 ตุลาคมนี้ ที่ไบเทค บางนา ชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bigandbih.com