กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กระทรวงไอซีที เร่งเครื่องโครงการสำคัญ (Flagship Projects) รุกปรับบทบาท-โมเดลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน โชว์โครงการ Village e-Commerce สร้างรายได้พร้อมสร้างองค์ความรู้สู่ชุมชน
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายหลังการประชุมหารือโครงการสำคัญ (Flagship Projects) ในระยะเร่งด่วนของกระทรวงไอซีที ซึ่งมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติของ Flagship Projects ด้านการสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ประกอบด้วย 1.การยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพื่อสร้างรายได้และสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน ได้แก่ โครงการสนับสนุนชุมชนสู่การค้าออนไลน์ (Village e-Commerce) ด้วยการจัดกิจกรรมสนับสนุนการทำธุรกิจออนไลน์ให้กับชุมชน พัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพื่อให้บริการด้านการค้าออนไลน์กับชุมชน รวมทั้งพัฒนารูปแบบการค้าออนไลน์ที่เหมาะสมสำหรับชุมชนนำร่องและเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบการบริหารจัดการของศูนย์ดิจิทัลชุมชนให้สามารถทำการค้าขายในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) รวมทั้งการสื่อสารใหม่ๆ
ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์ดิจิทัลชุมชนสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากโครงการมีความชัดเจนอยู่แล้ว โดยจะมีการปรับรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน จากเดิมที่มีลักษณะเหมือนห้องเรียนและสอนเฉพาะเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นเหมือนห้องประชุม เพื่อให้ชุมชนนำแนวคิดหรือไอเดียต่างๆ มาหารือกัน โดยกิจกรรมหลักๆ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้แต่ละชุมชนเกิดการซื้อขายสินค้าและบริการในรูปแบบ e-Commerce เกิดขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีผู้นำชุมชนอยู่แล้วและมีการสร้างเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้นำชุมชนเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการปรับทัศนคติคนในชุมชนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดยตั้งเป้าหมายสร้างธุรกิจออนไลน์ผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน 100 ศูนย์ จำนวนร้านค้า 1,200 ร้านค้า สินค้า 6,000 รายการ และมูลค่าการซื้อขายออนไลน์ระดับชุมชน 120 ล้านบาท
2.โครงการใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพให้ SMEs ได้แก่ การส่งเสริมธุรกิจ SMEs ให้เข้าสู่การค้าขายแบบ e-Commerce และ 3.โครงการสนับสนุนการทำ Digital Business และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ด้วยการส่งเสริมการใช้รหัสสินค้าและข้อมูลสินค้ามาตรฐานจากฐานข้อมูล การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้วยการนำระบบการบริหารจัดการองค์กร เข่น ERP และ POS การเชื่อมโยงการค้าด้วยการส่งเสริมระบบ e-Supply Chain การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการค้า เช่น e-Bill และ e-Invoice รวมทั้งมาตรฐานต่างๆ เช่น Product Code, Bill of Material (BOM) และ Data Message รวมทั้งในส่วนของ e-Tourism ซึ่งทาง SIPA จะต้องไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมและหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อที่จะทำให้แพลตฟอร์มที่จะนำมาใช้มีความสอดคล้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือในมิติด้านการพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกดิจิทัล ในส่วนของการพัฒนา ICT Professional ได้มีการพูดถึงแนวทางการส่งเสริมธุรกิจใหม่ (Start Up) เพื่อส่งเสริมการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา สร้างงานที่มีมูลค่าสูง และสร้างบุคลากรดิจิทัลยุคใหม่ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงโครงการพัฒนา Smart City ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับเมือง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งได้มีการกำหนดให้ภูเก็ตและเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่องนั้น ในส่วนของภูเก็ตจะต้องมีการประกาศแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนได้ก่อนสิ้นปีนี้