กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
โรงแรมเดอะสุโกศล// สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เผยส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 8 เดือนแรกปี 58 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 35,776 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.80 โดยอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 3.34, 1.45 และ 1.28 ตามลำดับ เหตุตลาดส่งออกหลักยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้าสินค้าจากไทยรวมกันถึงร้อยละ 23 ขณะที่ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.73 อาทิ สินค้าโทรทัศน์สี, ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ และหม้อหุงข้าว มีการผลิตลดลงร้อยละ 64.21, 19.48 และ 17.88 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามพบว่ากิจการที่ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มดี มีการลงทุนใหม่ๆ ด้วยเงินลงทุนสูงในกิจการเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell), แผงเซลล์แสงอาทิตย์(Solar Mudule), Lighting Device และ Integrated Circuit(IC) เป็นต้น ชี้แนวโน้มสิ้นปี 58 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังคงต้องเผชิญความผันผวนของเศรษฐกิจโลก คาดปรับตัวลดลงราวร้อยละ 3 มีมูลค่าส่งออกรวม 54,039 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับปี 57 มั่นใจตลาดภายในประเทศจะมีความต้องการบริโภคสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพราะผลพวงจากนโยบายรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจให้ภาคอสังหาริมทรัพย์
นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม
เผยข้อมูลสถานการณ์อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มปี 2558 ภายใต้การรวบรวมข้อมูลและดำเนินงานโดย E&E Intelligence Unit พบว่า สถานการณ์การส่งออกของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือน 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 35,776.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการปรับตัวลดลงของตลาดหลัก อาทิ ตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่มีสัดส่วนนำเข้าสินค้าจากไทยรวมกันถึงร้อยละ 23 ลดลงร้อยละ 9.07 และ 6.45 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์, เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.34, 1.45 และ 1.28 ตามลำดับ
ทั้งนี้ตลาดส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวม 5 อันดับแรก ในช่วงเดือน 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 6,647.62 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 18.58 เติบโตร้อยละ 6.71 อันดับ 2 ได้แก่ อาเซียน 6,558.74 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 18.33 เติบโตร้อยละ 0.47 อันดับ 3 ได้แก่ สหภาพยุโรป 4,875.34 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 13.63 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.45 อันดับ 4 ได้แก่ ญี่ปุ่น 3,514.13 สัดส่วนร้อยละ 9.82 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 9.07 และอันดับ 5 ได้แก่ จีน 3,172.56 สัดส่วนร้อยละ 8.87 เติบโตร้อยละ 0.02
กล่าวเฉพาะสินค้าไฟฟ้าในช่วงเดือน 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 15,138.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.92 เนื่องจากการปรับตัวลดลงของตลาดหลัก อาทิ ตลาดจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 13.19, 12.98 และ 10.26 ตามลำดับ โดยสัดส่วนตลาดส่งออกที่มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ตลาดอาเซียน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ตามลำดับ อย่างไรก็ตามมูลค่าส่งออกของสินค้าไฟฟ้า 5 อันดับแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสินค้ากล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวิดีโอภาพนิ่ง วิดีโออื่นๆ, ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์สี ส่วนสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า เนื่องจากตลาดส่งออกที่มีความต้องการลดลงเกือบทุกตลาด และมีการปรับตัวลดลงทุกผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น สะท้อนภาพตลาดส่งออกญี่ปุ่นที่ยังคงผันผวนค่อนข้างมาก
ด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือน 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 20,637.71 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.97 ทุกตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีการฟื้นตัว ยกเว้นตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังคงปรับตัวลดลง สัดส่วนตลาดส่งออกที่มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาเซียน และสหภาพยุโรป ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 5 อันดับแรกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่สินค้าเครื่องส่ง-เครื่องรับวิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์, วงจรพิมพ์, ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ส่วนสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และวงจรรวมและไมโคร แอสแซมบลี เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรปยังคงปรับตัวลดลง โดยอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีความต้องการลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.14
"แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในปี 2558 ของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีมูลค่า 54,039 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นสินค้าไฟฟ้ามูลค่า 22,726 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 31,313 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะปรับตัวลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบจากปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของสินค้าไฟฟ้าร้อยละ 3.2 และการปรับตัวลดลงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 2.9 ทั้งนี้เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก อาทิ ตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก"
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวม พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) (มีค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 237.87) ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงของสินค้าหลายรายการ อาทิ สินค้าโทรทัศน์สี, ฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ และหม้อหุงข้าว โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 64.21, 19.48 และ 17.88 ตามลำดับ โดยการผลิตที่ตอบสนองตลาดในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นในบางผลิตภัณฑ์ เช่น พัดลม ขณะที่การปรับตัวลดลงของ ฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ ซึ่งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังคงผันผวนทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สินค้าไฟฟ้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) (มีค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 124.42) ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตที่ปรับตัวลดลงเกือบทุกสินค้า เนื่องจากการตอบสนองตลาดในประเทศที่มีความต้องการชะลอตัวลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (มีค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 302.22) ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวลดลงจากการผลิต ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ เป็นหลัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมลดลงอย่างต่อเนื่องจากสินค้าสำเร็จรูปประเภทคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค และคอมพิวเตอร์พีซี ปรับลดลง
"แม้ว่าภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะต้องเผชิญความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลกต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่สำหรับสถานการณ์การลงทุนและการค้าภายในประเทศนั้นถือว่ามีแนวโน้มดี โดยเฉพาะในกิจการที่ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก โดยดูจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) พบว่ามีมูลค่า 10,480 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเภทกิจการที่มีเงินลงทุนค่อนข้างสูง ได้แก่ เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell), แผงเซลล์แสงอาทิตย์(Solar Mudule), Lighting Device และ Integrated Circuit (IC) เป็นต้น และเชื่อมั่นว่าจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐจะมีส่วนผลักดันให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ" นายสมบูรณ์ กล่าว