กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
"อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม" เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ และรองรับแรงงานจำนวนมาก ปัจจุบันประสบปัญหาต่าง ๆ หลายด้าน เช่น การขาดแคลนแรงงาน ประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยลดลง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการจึงต้องเร่งหาหนทางใหม่ ๆ ในการประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ไปได้
แนวทางหนึ่งที่จะเป็นทางเลือกและโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย คือ การมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การเข้าสู่ตลาดใหม่ที่นอกเหนือจากตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการผลิตสิ่งทอให้มีคุณสมบัติและมีความสามารถในการ ใช้งานที่หลากหลายแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อก้าวไปสู่ "อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิค" ที่จะช่วยยกระดับและเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ที่เป็นประเด็นใหม่ที่กำลังพูดถึงในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอขณะนี้
"สิ่งทอเทคนิค (Technical Textile)" คือ วัสดุสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตขึ้นให้มีคุณสมบัติและรูปแบบเฉพาะตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน มากกว่าการใช้งานด้านความสวยงามหรือเพื่อการตกแต่ง โดยปัจจุบันตลาดสิ่งทอเทคนิคของโลกมีมูลค่าประมาณ 141.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีปริมาณความต้องการใช้สูงถึง 27.87 ล้านตันต่อปี ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดประมาณ ร้อยละ 53 ของมูลค่าการค้าสิ่งทอเทคนิคของโลก สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมของไทยในปี 2557 ที่ผ่านมาที่มีมูลค่าการส่งออก 7,459.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสิ่งทอเทคนิคสำหรับเครื่องนุ่งห่ม (Clothtech)อยู่ ประมาณ 434.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยทั่วไปจำแนกสิ่งทอเทคนิคเป็น 12 สาขา ได้แก่
· สิ่งทอเทคนิคทางยานยนต์ (Mobitech) เช่น ถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ผ้าหุ้มเบาะ
· สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ (Meditech) เช่น ชุดปลอดเชื้อสำหรับแพทย์และผู้ป่วย ผ้าม่าน ผ้าบังเตียงในห้องผ่าตัด ผ้าปูที่นอน
· สิ่งทอเพื่อการปกป้อง (Protech) เช่น ถุงมือกันบาด เสื้อเกราะกันกระสุน ชุดทหาร
· สิ่งทอทางการเกษตร (Agrotech) เช่น ผ้าคลุมสำหรับกักเก็บความชุ่มชื้นในดิน ผ้าคลุมป้องกันวัชพืช
· สิ่งทอเทคนิคเพื่อครัวเรือน (Hometech) เช่น ผ้าม่านและพรมที่มีคุณสมบัติกันไฟ
· สิ่งทอเทคนิคเพื่อการก่อสร้าง (Buildtech) เช่น ผ้าใบสำหรับงานโครงสร้างรับแรงดึง ตาข่ายกันตก กันฝุ่น กันลม เชือก Safety เชือกงานก่อสร้าง
· สิ่งทอเทคนิคสำหรับเครื่องนุ่งห่ม (Clothtech) เช่น เสื้อกันหนาวแบบระบายอากาศ เสื้อเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิ
· สิ่งทอเทคนิคทางธรณี (Geotech) เช่น ผ้าสำหรับเสริมแรงดัน ผ้ากันซึม
· สิ่งทอเทคนิคเพื่อสิ่งแวดล้อม (Oekotech) เช่น สิ่งทอประหยัดพลังงาน
· สิ่งทอเทคนิคทางอุตสาหกรรม (Industech) เช่น ผ้ากรอง สายพานลำเลียง
· สิ่งทอเทคนิคสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packtech) เช่น big bag ถุงไปรษณีย์
· สิ่งทอเทคนิคทางกีฬา (Sporttech) เช่น ใบเรือ ร่มชูชีพ
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยด้วยว่า การศึกษา "แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค (Technical Textile) เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 12 สาขาในอนาคต" เพื่อวางทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต รวมถึงสร้างโอกาสและทางเลือกให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น ผลการศึกษา พบว่า ประเทศไทยมีผู้ผลิตสิ่งทอที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอเทคนิคต้นน้ำที่สำคัญ 15 ราย กลางน้ำ 132 ราย และ สิ่งทอเทคนิคปลายน้ำทั้ง 12 สาขา จำนวน 553 ราย โดยมีมูลค่าตลาดโดยรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องของสิ่งทอเทคนิคที่มีแนวโน้มความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีศักยภาพสูงในการพัฒนาส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ Meditech Mobitech Hometech และ Protech
สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคที่มีศักยภาพในการลงทุนเชิงพาณิชย์ และมีผลตอบแทนอยู่ในระดับดีถึงดีมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ชุดผ่าตัดจากผ้าที่เป็นการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยตรงจากเส้นใยที่เรียกว่า "ผ้าไม่ถักไม่ทอ" หรือผ้านันวูฟเว่นแบบใช้แล้วทิ้ง ผ้าม่านที่ทอจากเส้นใยที่มีคุณสมบัติหน่วงไฟ ถุงมือกันบาด เส้นใยโพลีเอทิลีนความแข็งแรงสูง (UHMWPE) และเส้นใยเซรามิก ซึ่งผลิตภัณฑ์นำร่องดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตและเกิดช่องทางการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตสิ่งทอในบริบทใหม่ของภาคอุตสาหกรรมไทย
โดยได้กำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสิ่งทอเทคนิคเพื่อการพึ่งพาตนเอง ยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตอบสนองความต้องการของตลาดโลก" ประกอบด้วย 5 แนวทาง คือ
1) เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของผู้ผลิตสิ่งทอเทคนิคในประเทศ เช่น ประสานความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตสิ่งทอเทคนิค พร้อมมาตรการส่งเสริมทางการเงินเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ประสานศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคเฉพาะทางระดับโลก เพื่อทดสอบรับรองมาตรฐานสิ่งทอเทคนิคภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบสิ่งทอเทคนิคที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศภายใต้การรับรองของศูนย์ทดสอบสิ่งทอเทคนิคเฉพาะทางระดับโลก
2) ส่งเสริมตลาดสิ่งทอเทคนิคภายในประเทศโดยใช้ศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตสิ่งทอเทคนิคของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ทั้งในการพัฒนาความสามารถและความเร็วในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านสิ่งทอเทคนิค โดยเปิดหลักสูตรเฉพาะทางในลักษณะของหลักสูตรการศึกษาทั้งระดับอาชีวะ ปริญญาตรี ปริญญาโท
4) พัฒนาการเชื่อมโยงผู้ประกอบการสู่ห่วงโซ่คุณค่าสิ่งทอเทคนิคในระดับโลก เช่น สร้างฐานความร่วมมือทางการผลิตและการค้า กับ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศในกลุ่มยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรหรืสมาคมทางสิ่งทอเทคนิคระดับโลก
5) ยกระดับผู้ประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคโลก
หากสามารถดำเนินการได้ตามแผน คาดว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสิ่งทอเทคนิคที่สำคัญของโลกภายในปี พ.ศ. 2566