กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
- สร้างสีสันใหม่ให้โลกหนังสือ ผ่านกิจกรรมอ่าน-เขียนจาก 421 สำนักพิมพ์ ครั้งแรกกับกิจกรรมคึกคักนักวาด และต่อเส้น เติมชีวิต การ์ตูนไทย ครั้งแรกของการรวมตัวศิลปินระดับชาติและ ซีไรต์กว่า 10 ท่าน รังสรรค์บทกวีมอบให้ โครงการ ๑ อ่าน ล้านตื่น นำไปประมูล หาทุนสนับสนุนสร้างการอ่านอย่างมีคุณภาพ
พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 20 (Book Expo Thailand 2015)" ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันพุธที่ 21 ตุลาคม - วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (12 วัน) ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด "วาด"
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า "มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 20 (Book Expo Thailand 2015)" ถือเป็นงานแสดงหนังสือระดับชาติที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด โดยในปีนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สวนกระแสเศรษฐกิจ โดยมีสำนักพิมพ์ไทยตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 421 สำนักพิมพ์ รวมทั้งสิ้น 933 บูธ บนพื้นที่ประมาณ 21,000ตารางเมตร
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน อาทิ นิทรรศการการ์ตูนไทยตายแล้ว? / นิทรรศการบทกวีเพื่อจัดประมูลจากศิลปินระดับชาติ ที่บริเวณเมนฟอร์เย่ / นิทรรศการย้อนตำนานสตรีสาร 100 ปี คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง / 'มิวเซียมสยามมินิ' คำไทย ใครทำ : หลากหลาย คือไทยแท้ ที่ฮอลล์เอ / นิทรรศการสืบไพร ทุ่งใหญ่ตะวันตก ที่โซนซี 1 อีกทั้งยังมีการจัดอบรมทั้งวิชาการและวิชาชีพกว่า 50 รายการตามห้องประชุมต่างๆ รวมถึงการเสวนาบนเวทีกลางกว่า 80 รายการ
"ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการอ่านนั้น เล็งเห็นว่าหนังสือและการอ่านถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะคนถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการที่จะพัฒนาประเทศในทิศทางต่างๆ ถ้าคนในชาติอ่านมากขึ้นก็จะมีความรู้ ความคิด และวิจารณญาณในการพิจารณาประเด็นต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาตัวเอง เราจำเป็นต้องอ่านหนังสือให้มากขึ้นกว่านี้ เพื่อเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศก้าวเดินได้อย่างมั่นคง" นายจรัญกล่าว
โดยนายจรัญเปิดเผยว่า ปีนี้ได้จัดงานภายใต้แนวคิด "วาด" ซึ่งเชื่อมโยงกับนิทรรศการไฮไลท์ของงานคือ "การ์ตูนไทยตายแล้ว?" ส่วนตัวแล้วตนหวังว่าการ์ตูนทุกภาพทุกเรื่องเล่า ที่ทางผู้จัดคัดเลือกมาแสดงในนิทรรศการแบบสามมิติครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสะกิดสังคมให้คิดถึงอนาคตทั้งในระดับปัจเจกและระดับชาติ ในวันที่เราทุกคนจะต้องมาเริ่มต้นวาดทุกอย่างใหม่ร่วมกัน
"วาดหมายถึงว่าในยามนี้คุณอยากวาดอะไรก็วาดไป ทุกคนมาเริ่มต้นกันใหม่ประเทศนี้ อยากวาดฝันประเทศอย่างไร อนาคตอย่างไร สอดคล้องกับคีย์วิชวลของงานครั้งนี้ที่ภาพลายเส้นในการวาดทั้งหมด มีนัยยะที่ซ่อนอยู่มากกว่าความเป็นภาพวาดธรรมดาให้ได้ตีความกัน ซึ่งจะวาดฝันประเทศชาติ เศรษฐกิจ วาดอนาคตตัวเอง หนังสือคือส่วนหนึ่งของความรู้ที่เป็นคำตอบ
ในส่วนของนิทรรศการนั้น แม้การ์ตูนจะเป็นวัฒนธรรมที่นำเข้าจากตะวันตก แต่ก็เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่นๆ เมื่องอกเงยในสังคมไทยต่างก็มีการให้ความหมายและใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน บ้างก็ใช้ล้อเพื่อความบันเทิง บ้างก็ใช้เพื่อแสดงจุดยืนทางความคิด ความเชื่อ แต่ทั้งหมดยังอยู่ในจุดร่วมเดียวกันคือมีท่าทีที่ทีเล่นทีจริง วัฒนธรรมการ์ตูนได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการอ่านไปแล้ว ลายเส้นของการ์ตูนกลับเป็นตัวสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกไม่น้อยไปกว่าตัวอักษร
แต่การ์ตูนเป็นเพียงแค่ภาพล้อให้รู้สึกขบขันเท่านั้นจริงๆหรือ การ์ตูนไม่ได้ให้ความรู้และแรงบันดาลใจแก่ผู้อ่านเลยหรือ และการ์ตูนไม่ได้ปลูกฝังความเชื่อและอุดมการณ์ของยุคสมัยไว้หรืออย่างไร และท่ามกลางกระแสการปิดตัวลงของนิตยสารการ์ตูน และแนวโน้มการลดการผลิตหนังสือการ์ตูนแบบรวมเล่มของสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นว่ายอดขายหนังสือการ์ตูนได้ลดลงอย่างมากจนผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างหนักนั้น รวมถึงแล้วการ์ตูนไทยล่ะ ยังมีที่ทางอยู่ไหม นี่คือบางส่วนของคำถามที่เราตั้งใจจะชวนมาหาคำตอบร่วมกัน" นายจรัญกล่าว
นอกจากนี้ในนิทรรศการใหญ่นี้ยังมี "นิทรรศการ 100 ปี ประยูร จรรยาวงษ์ ราชาการ์ตูนไทย" อีกด้วย
"ประยูร จรรยาวงษ์ ได้สร้างชื่อเสียงแก่วงการนักเขียนการ์ตูนไทยเมื่อผลงานการทดลองระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย ได้รางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนสันติภาพที่นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ผลงานการเขียนการ์ตูนการเมืองก็ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลของมูลนิธิรามอนแมกไซไซ สาขานักหนังสือพิมพ์ ในปี 2514 ไม่เพียงแต่เรื่องการเมืองเท่านั้น เขายังถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เขาได้มีประสบการณ์เรียนรู้ผ่านการใช้ชีวิตของตน ผ่านการ์ตูนชุดขบวนการแก้จน เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 – 2521 การ์ตูนชุดนี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างมากในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมายาวนานกว่า 20 ปี ขบวนการแก้จนได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรจะได้อ่าน ซึ่งในคำประกาศได้บอกว่าเป็นอัญมณีทางการ์ตูนที่หาได้ยากยิ่ง ถือเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีถึงความเป็นอมตะในผลงานของราชาการ์ตูนไทยผู้นี้" นายจรัญกล่าว
ที่สำคัญอย่างยิ่งคือกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างมีคุณภาพ "โครงการ ๑ อ่าน ล้านตื่น" ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านด้วยหนังสือคุณภาพ จัดงานวัน ๑ อ่าน ล้านตื่น โดยมอบคูปองให้เด็กด้อยโอกาสจากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 200 คน คนละ 500 บาท มาเลือกซื้อหนังสือด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน
โดยในปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยังได้รับเกียรติอย่างสูงจากกวีและศิลปินชื่อดังระดับประเทศ อาทิ คุณประภัสสร เสวิกุล ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของคุณประภัสสรก่อนจากไป คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, คุณ จิระนันท์ พิตรปรีชา, คุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นต้น ร่วมมอบบทกวีเขียนด้วยลายมือตนเอง เพื่อประมูลนำรายได้เข้าโครงการ ๑ อ่าน ล้านตื่น ซึ่งถือเป็นโครงการแรกที่ให้สิทธิ์ผู้รับบริจาคในการเลือกหนังสือได้ด้วยตนเอง ตามรายการหนังสือที่สมาชิกส่งมาเข้าร่วมโครงการ โดยได้ผ่านการพิจารณาจากผู้แทนของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเป็นหนังสือคุณภาพ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2558 เวลา 16.00 – 17.00 น. ณ เวทีเอเทรียม
ในส่วนของความคาดหวังนั้น นายจรัญมองว่าแม้ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะไม่ดีนัก แต่เชื่อมั่นว่าธุรกิจหนังสือเล่มนั้น ยังมีทางที่จะเติบโตได้
"หนังสือเป็นสินค้าที่จำเป็นของผู้อ่านกลุ่มหนึ่ง ที่จำเป็นต้องอ่าน ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร เพราะขึ้นชื่อว่านักอ่านซึ่งมีความผูกพันกับหนังสือ ย่อมไม่มีทางที่จะไม่อ่านอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนคือปริมาณการซื้ออาจจะ"น้อยลง"อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้มีการเลือกซื้อหนังสือตามความจำเป็น หนังสือที่ได้รับความนิยม ก็ยังคงเป็นหนังสือนิยายภาพ หรือเป็นหนังสือที่มีการเล่าเรื่องโดยใช้การ์ตูน
จึงคิดว่าจำนวนผู้ร่วมงานไม่น่าจะน้อยกว่าเดิมคือประมาณ 2,000,000 คน และกลุ่มนักอ่านน่าจะมีเยาวชนเพิ่มมากขึ้น เป็นเด็กๆ รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับความนิยมของหนังสือภาพ แต่ยอดขายอาจไม่น่าดีมากนักตามสภาพเศรษฐกิจ สภาวะเช่นนี้สำนักพิมพ์จะต้องร่วมมือกันผลิตหนังสือที่มีคุณภาพและซื่อสัตย์ต่อผู้อ่าน เพื่อรักษาความเชื่อมั่นให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ตนหวังเห็นหนังสือสารคดีที่มีข้อมูลที่ถูกต้องและมีความแม่นยำทางเนื้อหา หรือหนังสือแนวประวัติศาสตร์มุมมองใหม่ซึ่งมาพร้อมกับความท้าทายในความถูกต้องของเรื่องราวในประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นมากกว่าที่มีอยู่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และองค์ความรู้ในสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง" นายจรัญกล่าว
เตรียมตัวให้พร้อม หอบความสุข พกความรู้กลับบ้านใน "มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 20 (Book Expo Thailand 2015)" ในระหว่างวันพุธที่ 21 ตุลาคม – วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (12 วัน) ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น.