กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า "ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) จัดเก็บได้2,207,476 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 117,524 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 (แต่ยังสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 6.4) โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงตั้งแต่ปลายปี 2557 ได้ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจปี 2557 ที่ชะลอตัวลง ประกอบกับเศรษฐกิจในปี 2558 ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ กระทบต่อการประกอบการของภาคธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เป็นตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณนี้ กระทรวงการคลังได้บริหารจัดการโดยให้รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียนต่าง ๆ นำส่งสภาพคล่องส่วนเกินความจำเป็นเป็นรายได้แผ่นดิน"
ทั้งนี้ นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากการที่เศรษฐกิจของประเทศที่ยังฟื้นตัวได้อย่างไม่เต็มที่ เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2558 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่อย่างไรก็ดี ยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลต่อฐานะการคลังของประเทศมากนัก สำหรับการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2559 นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพของ 3 กรมจัดเก็บภาษี กระทรวงการคลังจะต้องเร่งหาแนวทางการบริหารจัดการด้านอื่นๆ เพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคต่างๆ จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวที่ดีขึ้น และจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในอนาคตต่อไป"
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนกันยายน 2558 และปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558)
ในเดือนกันยายน 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 208,840 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,709 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 ส่งผลให้ปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 2,207,476 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 117,524 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.4
1. เดือนกันยายน 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 208,840 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,709 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.4) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 19,022 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 เนื่องจากผลประกอบการของภาคธุรกิจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 6,459 หรือร้อยละ 9.8 โดยเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 19,327 ล้านบาท หรือร้อยละ 164.5 และภาษีสรรพสามิตน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,284 ล้านบาท
2. ปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,207,476 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 117,524 ล้านบาทหรือร้อยละ 5.1 (แต่สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 6.4) โดยกรมสรรพากรและกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ 235,997 และ 6,912 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.0 และ 5.6 ตามลำดับ ขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตสูงกว่าประมาณการ 41,254 27,325 และ 17,693 ล้านบาท หรือร้อยละ 34.4 18.7 และ 4.2 ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,729,203 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 235,997 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.0 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 115,450 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.9 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 0.7) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากฐานกำไรสุทธิจากผลประกอบการปี 2557 ของภาคธุรกิจ(ภ.ง.ด. 50) และภาษีจากค่าบริการและการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
- ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 66,995 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.6 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 0.4) ซึ่งเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 62,231 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.2 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 9.8) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,764 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 แต่ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 6.9
- ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 41,478 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.2 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 18.2) เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (เหลว) ที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 439,093 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,693 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 14.7) เป็นผลจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 61,986 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.2 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 101.5) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 26,296 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.6 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 13.7) สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว สำหรับภาษีสุราและภาษีเบียร์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 9,512 และ 8,356 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.2 และ 9.4 ตามลำดับ
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 115,488 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,912 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 1.9) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 7,890ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้สูญเสียรายได้ในช่วง 9 เดือน (มกราคม – สิงหาคม 2558) ประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 หดตัวร้อยละ 7.5 และ 5.1 ตามลำดับ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 161,254 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 41,254 ล้านบาท หรือร้อยละ 34.4 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 18.0) รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 173,425 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 27,325 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.7 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 27.6) เป็นผลจากกองทุนหมุนเวียนนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินคืนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 17,177 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล งวดที่ 2 เป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 7,854 ล้านบาทเป็นสำคัญ
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,595 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 195 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 3.1) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้เหรียญกษาปณ์สูงกว่าเป้าหมาย
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 272,000 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 23,700ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 220,313 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 20,187 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.4 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 51,687 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,513 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4
2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 11,348 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,748 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.2
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 14,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,551 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.9
2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 16,744 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,956 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5
2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 12 งวด เป็นเงิน 96,346 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,654 ล้านบาทหรือร้อยละ 11.6
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02273 9020 ต่อ 3573