ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม “กรุงเทพมหานคร” ที่ “AA+/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 22, 2015 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของกรุงเทพมหานครที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนของกรุงเทพมหานครที่มาจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีภาระหนี้สินที่ต่ำและการดำรงเงินสะสมในระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวลดทอนลงจากความต้องการในการลงทุนเป็นอย่างมากในโครงการด้านสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเองและจากภารกิจที่รับโอนจากรัฐบาลในขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่อาจกระทบต่อสถานะอันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครซึ่งจะต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน ได้แก่ การนำเสนองบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม แผนการลงทุนและการจัดหาเงินทุน และการพัฒนากรอบวินัยในการบริหารหนี้ให้เป็นรูปธรรม เป็นต้น แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครอาจได้รับการปรับเพิ่มหากกรุงเทพมหานครมีแผนการลงทุนและการบริหารการเงินที่ชัดเจน รวมทั้งมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีการเปิดเผยงบการเงินที่ตรวจสอบแล้วภายในเวลาที่เหมาะสม ในทางตรงข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากกรุงเทพมหานครมีดุลการคลังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง หรือมีการลงทุนที่ก่อให้เกิดภาระชำระหนี้ที่เกินกำลังความสามารถ กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการและบริหารจัดการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศไทย ในปี 2556 กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product – GPP) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยมูลค่า 3.97 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 30.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ในด้านการเงินการคลังนั้น กรุงเทพมหานครมีรายได้หลักมาจากภาษีอากร โดยเป็นภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองและส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ทั้งนี้ ภาษีอากรนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูงแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศและนโยบายของรัฐบาลกลาง ในปีงบประมาณ 2557 แม้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะชะลอตัวลง แต่กรุงเทพมหานครยังจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 5.5% ที่ระดับ 66,556 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองคิดเป็น 18% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่ง 92% มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้คิดเป็น 77% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีสัดส่วนที่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน และภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมคิดเป็นประมาณ 45% 24% และ 20% ตามลำดับ ในปีงบประมาณ 2557 กรุงเทพมหานครได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 5,000 ล้านบาท ทำให้กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายรวม 68,982 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1% จากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีดุลการคลังขาดดุลจำนวน 2,426 ล้านบาท และมีอัตราส่วนดุลการคลังต่อรายได้อยู่ที่ -3.65% กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายดำเนินการคิดเป็นสัดส่วน 77% ของรายจ่ายรวมทั้งหมดในปีงบประมาณ 2557 ส่วนที่เหลือเป็นงบลงทุน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินการของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.3% หรือที่ระดับ 53,500 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินการที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้ความสามารถในการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานครลดลง ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2557 เงินสะสมของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับ 10,666 ล้านบาทซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงาน เนื่องจากกรุงเทพมหานครไม่ได้บันทึกรายได้และรายจ่ายทั้งหมดของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ส่วนต่อขยายไว้ในรายงานการรับ-จ่ายเงินประจำปีของกรุงเทพมหานครที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น รายงานการรับ-จ่ายเงินของกรุงเทพมหานครจึงต่ำกว่าความเป็นจริง สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 กรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บรายได้จำนวน 54,136 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตเติบโตอย่างมาก ทั้งนี้ เมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ กรุงเทพมหานครคาดว่าจะมีรายได้ทั้งหมด 68,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่าย 65,000 ล้านบาทแล้วจะทำให้กรุงเทพมหานครมีดุลการคลังเกินดุลประมาณ 3,500 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 ดังนั้น อัตราส่วนดุลการคลังต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครจะกลับมาเป็นบวกหลังจากที่ติดลบในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงปีงบประมาณ 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 11,198 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2556 เป็น 12,176 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2557 ภาระหนี้สินส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครประกอบไปด้วย (1) เงินกู้ของบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อใช้ในการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายสีลม (ตากสิน-เพชรเกษม) (2) มูลค่าปัจจุบันของค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าภายใต้สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้า BTS และ (3) มูลค่าปัจจุบันของค่าเช่ารายปีจากสัญญาเช่ารถยนต์และรถเก็บขยะมูลฝอย โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับประมาณ 18% ในระหว่างปีงบประมาณ 2556-2557 ในปี 2558 กรุงเทพมหานครได้มีการหารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงแผนการโอนการบริหารและดำเนินการส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้า BTS ทั้ง 2 ส่วนให้แก่กรุงเทพมหานครซึ่งประกอบด้วยเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการและเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยปัจจุบัน รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 54,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2560 และ 2563 ตามลำดับ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะรับโอนโครงการเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังอยู่ในระหว่างการศึกษาแนวทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทาซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ที่จะมีเส้นทางจากวัชรพลไปถึงทองหล่อ โดยโครงการอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 26,000 ล้านบาท ทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ และแนวทางการจัดหาเงินทุนเพื่อประเมินผลกระทบต่ออันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครต่อไป ในการพิจารณาภาระการชำระหนี้รายปีของกรุงเทพมหานครนั้น ทริสเรทติ้งจะพิจารณาถึงภาระหนี้ที่ต้องจ่ายของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งจากสัญญาจัดจ้างระยะยาวต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายและรถเมล์ BRT ค่าเช่ารถยนต์และรถเก็บขยะมูลฝอย และการชำระคืนเงินกู้ยืม โดยอัตราส่วนภาระชำระหนี้ต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในปีงบประมาณ 2556 เป็น 6.3% ในปีงบประมาณ 2557 อันเนื่องมาจากค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนภาระชำระหนี้ต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ระดับ 6%-7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานคร (BMA) อันดับเครดิตองค์กร: AA+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ