กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ปภ.รายงานหมอกควันจากไฟป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย พัดปกคลุมพื้นที่ภาคใต้อีกระลอก โดยคุณภาพอากาศ 7 จังหวัดภาคใต้ อยู่ในระดับปานกลางถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาก พร้อมประสานจังหวัดภาคใต้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากไฟป่าต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย มุ่งเน้นการกำหนดมาตรการคุมเข้มการเผา ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย จะได้ป้องกันและดูแลตนเองอย่างถูกต้อง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันจากไฟป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่พัดปกคลุมในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคใต้อีกระลอก ว่า ส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางและสุขภาพของประชาชน ซึ่งจากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2558 พบว่า 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 117 – 360 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งคุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาก โดยตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ค่า PM10 122 165 182 211 276 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาก ค่า PM10 360 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ติดตามสถานการณ์วิกฤตหมอกควันอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมสนธิกำลังในการระดมเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อควบคุมหมอกควันมิให้ส่งผลกระทบรุนแรง รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยกำหนดมาตรการคุมเข้มการเพิ่มปริมาณหมอกควันในอากาศ โดยเฉพาะการเผาขยะ ใบไม้และวัสดุทางการเกษตร และสนับสนุนให้ชุมชนนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขจัดหาหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย เพื่อจะได้ป้องกันและดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเมื่อขับผ่านเส้นทางที่มีหมอกควันปกคลุม กรณีสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่รุนแรง ให้จัดหาสถานที่พักชั่วคราวที่สามารถป้องกันฝุ่นละออง เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่สามารถป้องกันตนเองจากหมอกควันได้
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th