กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
มิวเซียมสยามจัดเวที ครีเอทีฟเสวนา ในหัวข้อ "สื่อสารอย่างไรให้โดนใจและสร้างสรรค์" จับมือ สุดยอดครีเอทีฟของไทยหลากหลายแวดวง ร่วมจุดประกายความคิดและทัศนคติเชิงบวกแก่คนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับการใช้ website และ application social network ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และสามารถสื่อสารข้อมูลข่าวสารได้อย่างสร้างสรรค์โดนใจกลุ่มเป้าหมาย พร้อมชวนเยาวชนร่วมขบคิดกลั่นความรู้ ต่อยอดสู่ผลงาน Infographic เล่าเรื่องไทยด้วยภาพ ภายใต้โครงการ Young Muse Project ครั้งที่ 6
เวทีครีเอทีฟเสวนา "สื่อสารอย่างไรให้โดนใจและสร้างสรรค์" เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้ โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "แบบนี้สิคนไทย" โดยได้รับเกียรติจาก สุดยอดนักคิดของไทย ได้แก่ นายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร aday, นายพันธวิศ ลวเรืองโชค Creative Director นักออกแบบ Exhibition ผู้ก่อตั้ง APOSTROPHY'S รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และ นางจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดการสื่อสาร
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) เปิดเผยว่า เวทีครีเอทีฟเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "แบบนี้สิคนไทย" เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ปั้นเยาวชนนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและต่อยอดไปสู่การพัฒนาข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบ Infographic ภายใต้โครงการ Young Muse Project ครั้งที่ 6 ต่อไป ในการออกแบบเนื้อหาและข้อมูลให้สามารถสื่อสารสู่สังคมได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับสาร
"ในยุคดิจิตอลที่ผู้คนทั้งโลกสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างรวดเร็วผ่านสังคมออนไลน์ กลยุทธ์ด้านการสื่อสารนับเป็นสิ่งสำคัญ ปรากฎการณ์ที่เห็นเด่นชัดในทุกวันนี้คือ Infographic แทรกซึมไปได้ในทุกๆ สื่อ ปัจจุบันพลังของ Infographic มีผลต่อการรับรู้ของมนุษย์โดยตรง เพราะร้อยละ 90 ของข้อมูลที่เข้าสู่สมองของคนคือรูปภาพ เพราะกระตุ้นความสนใจได้ดีกว่า โครงการ Young Muse Project ครั้งที่ 6 ที่จะจัดขึ้นนี้ จึงเป็นเวทีสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่จะสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการพิพิธภัณฑ์ไทย โดยเปิดโอกาสให้นักเยาวชนคนรุ่นใหม่แสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่านผลงาน Infographic เพื่อบอกเล่าความเป็นคนไทย และทดลองใช้เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มิวเซียมสยามเป็นแห่งแรก" ผอ.สพร.กล่าว
นายพันธวิศ ลวเรืองโชค เปิดเผยว่า ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างโอกาสให้แก่มนุษย์ทุกคนบนโลก โดยปราศจากการกีดกันทางสังคม เพศและอายุ ซึ่งเพียงคลิกเดียวเด็กรุ่นใหม่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
"โซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นช่องทางที่มนุษย์ทุกคนสามารถใช้นำเสนอความสามารถของตนเองให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ ทั้งลูกค้าและนายทุน แต่เนื่องจากโลกโซเชียลหมุนไปอย่างรวดเร็ว การปรับกลยุทธ์และวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับช่วงเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ จากการสำรวจข้อมูลพบว่าปัจจุบันเป็นยุคของการสื่อสารแบบ 10 วินาที สิ่งที่ต้องการสื่อสารถึงผู้รับจึงต้องมีความกระชับและเข้าใจง่าย" นายพันธวิศกล่าว
นายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า โลกโซเชียลเน็ตเวิร์คคือห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีคนส่วนใหญ่ใช้เพื่อค้นหาความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยฉวยโอกาสใช้ในทางที่ผิด โดยนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ หลอกลวง เพื่อความสนุกสนานและประสงค์ต่อทรัพย์สิน การใช้สติและวิจารณญาณจึงเป็นสิ่งที่ขาดเมื่อได้เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมออนไลน์
"คนในยุคปัจจุบันรับข่าวผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คแบบวินาทีต่อวินาที มีข้อมูลหมุนเวียนจำนวนมหาศาล ผู้รับสารจำเป็นต้องมีตะแกรงกรองเรื่องราวต่างๆ ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ในขณะที่ผู้ส่งสารต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์โดยใช้เทคนิคที่น่าสนใจ แม้เนื้อหาบางอย่างจะมีความยืดยาว แต่หากนำเสนอด้วยเทคนิคแปลกใหม่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ก็สามารถสร้างความสนใจและก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้" นายวงศ์ทนงอธิบาย
ทางด้าน รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เปิดเผยถึงเทคนิคการนำเสนอข้อมูลที่สามารถเข้าถึงผู้คนในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คได้โดยง่าย คือการใช้ภาพประกอบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้รับสาร เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมอ่านข้อความยาวๆ
"แน่นอนว่าความรู้เชิงวิชาการเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบอ่านหนังสือ การใช้ข้อความยาวๆ อ่านเข้าใจยาก จึงไม่เหมาะที่จะใช้เผยแพร่ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค แต่การใช้ภาพประกอบที่สวยงาม สะดุดตา สามารถกระตุ้นความสนใจได้มากกว่า เมื่อเรียกความสนใจได้แล้วจึงค่อยใส่แหล่งที่มาของข้อมูลเชิงลึกให้ผู้ที่สนใจจริงๆ ได้ติดตามต่อ" นักสื่อสารวิทยาศาสตร์กล่าว
นางจิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษาสพร. กล่าวว่า การสื่อสารในยุคปัจจุบันมีโซเชียลเน็ตเวิร์คได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาสำคัญคือ ข้อมูลที่เน้นความสั้น กระชับ ฉับไว มักขาดความปราณีต ใช้ภาษาอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ
"ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่สู่สังคม นอกจากจะต้องการความรวดเร็วว่องไว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความถูกต้องทั้งในด้านการใช้ภาษาและเนื้อหา หากเป็นการสื่อสารที่หวังให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ยิ่งต้องมีการกลั่นกรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะทุกถ้อยคำคือภาพลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพนั่นเอง" ที่ปรึกษาสพร.กล่าวสรุป