กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--พีอาร์ดีดี
นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมออกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพพร้อมกัน 3 กองทุนประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยุโรป เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCB EUROPEAN EQUITY RMF) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นญี่ปุ่น เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCB JAPAN EQUITY RMF) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลเฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCB GLOBAL HEALTHCARE RMF) มูลค่ากองทุนละ 5,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2558 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท
นายสมิทธ์ กล่าวว่า กองทุน RMF ทั้ง 3 กองนี้จะมีรูปแบบการลงทุนที่เหมือนกับกองหุ้นยุโรป หุ้นญี่ปุ่น และ หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์ที่บริษัทฯเคยนำเสนอก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯยังเล็งเห็นปัจจัยเชิงบวกในตลาดหุ้นทั้ง 3 กลุ่มในอนาคต จึงมองว่าเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนที่ สามารถรับความเสี่ยงได้สูงและต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทน ระยะยาวพร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ทั้งนี้นโยบายของการลงทุนทั้ง 3 กองทุน เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และทุกกองทุนได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในสกุลเงินต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่เทียบกับสกุลเงินบาท โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยุโรป เพื่อการเลี้ยงชีพ(SCB EUROPEAN EQUITY RMF) ลงทุนใน iShares STOXX Europe 600 (DE) ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Exchange Traded Fund (ETF) จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมันนี และอยู่ภายใต้ UCITS บริหารงานโดย BlackRock Asset Management Deutschland AG และลงทุนในสกุลเงินยูโร โดยจะลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี STOXX Europe 600 เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี STOXX Europe 600 ดังกล่าว โดยผลตอบแทน iShares STOXX Europe 600 (DE) ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 3.01% 3 ปี อยู่ที่ 27.74% และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 29.39%
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่นเพื่อการเลี้ยงชีพ (SCB JAPAN EQUITY RMF) ลงทุนใน Nikkei 225 Exchange Traded Fund ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Exchange Traded Fund (ETF) บริหารโดย Nomura Asset Management Co.,Ltd. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และลงทุนในสกุลเงินเยน เน้นลงทุนหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 และหุ้นที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225 เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ไปในทิศทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกับดัชนีนิคเคอิ 225 โดยผลตอบแทน Nikkei 225 Exchange Traded Fund ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 6.22% 3 ปี อยู่ที่ 95.70 % และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 91.49%
ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลเฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCB GLOBAL HEALTHCARE RMF) ลงทุนใน Janus Global Life Sciences Fund เป็นกองทุนที่มีการบริหารเชิงรุก โดย Janus Capital Management LLC จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศไอร์แลนด์และอยู่ภายใต้ UCITS และลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences) ได้แก่ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง การแพทย์หรือเภสัชกรรม รวมไปถึงบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตหลักมาจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตร หรือตลาดอื่นใดที่ได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต โดยผลตอบแทน Janus Global Life Sciences Fund ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 7.38% 3 ปี อยู่ที่ 116.75% และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 188.01%
นายสมิทธ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุน ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจยุโรป โดยคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนจะยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในกลุ่มประเทศยูโรโซนเอง เนื่องจากตลาดแรงงานกำลังทยอยปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับภาคธนาคารในยุโรปเองก็เริ่มมีความแข็งแรงมากขึ้นจากนโยบายสนับสนุนสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งส่งผลให้เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาขยายสินเชื่อจะเป็นกำลังสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกแรง ทั้งนี้ในระยะถัดไปคาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังคงดำเนินมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ในยุโรปทรงตัวในระดับต่ำ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มผลกำไรบริษัทจดทะเบียนเองก็กำลังปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้แนวโน้มค่าเงินยูโรอ่อนค่าจะช่วยสนับสนุนกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งรายได้กว่าครึ่งมาจากนอกทวีปยุโรป
ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายธนูสามดอกของนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งตั้งเป้าที่จะนำพาเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาขยายตัวดีอีกครั้ง ในปีนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ได้รับปัจจัยบวกหลายอย่างได้แก่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันของสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น ภายหลังที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า นอกจากนี้กองทุนบำนาญของญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นกองทุนบำนาญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารกว่า 140 ล้านล้านเยน หรือกว่า 43 ล้านล้านบาท ก็ได้กำลังทยอยปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะสั้นอาจจะยังมีความผันผวนสูงอยู่เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ดังนั้นการชะลอตัวของจีนจึงส่งผลด้านลบต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่าการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงจะเป็นการเร่งให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นและรัฐบาลเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปอีก ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะถัดไป
ส่วนหุ้นกลุ่ม Healthcare ทั่วโลก มองว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว เนื่องจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุว่าสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 ในปี 1950 เป็นร้อยละ 17 ในปี 2050 ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ที่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูงกว่ากลุ่มอื่นกว่า 3 เท่า ขณะที่นวัตกรรมทางการแพทย์และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทมียอดขายและบริการทางการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCBAM Call Center โทร. 02-777-7777 กด 0 กด 6