กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิดโดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)ปรับตัว ลดลง 1.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 1.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistic) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน (GDP) ไตรมาส 3/2558 อยู่ที่ 6.9% ต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 7% และเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปี 2551 บ่งบอกว่าภาวะเศรษฐกิจจีนยังคงสั่นคลอน
· ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) สาขาซานฟรานซิสโก นาย John-Williams เห็นว่า FED ควรเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีอัตราเร่งที่เหมาะสมและมีความยั่งยืน แม้จะมีปัจจัยภายนอกคอยส่งผลลบต่ออัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้สหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0-0.25% มานานเกือบ 7 ปี
· EIA รายงาน ปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ476.6 ล้านบาร์เรล เพิ่มขี้น จากสัปดาห์ก่อน 8 ล้านบาร์เรล) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง3.5 ล้านบาร์เรล และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน
· สำนักวิเคราะห์ด้านพลังงาน Energy Aspects รายงานจีนนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน ก.ย. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 0.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน สวนทางกับฤดูกาลตามปกติ ซึ่งโรงกลั่นพยายามจัดสรรปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซลที่อยู่ในระดับสูง
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งในทะเลเหนือ เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ 2.086 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.021 ล้านบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes Inc. รายงานผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ 1 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 595 แท่น ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ต.ค. 58 นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 และจำนวนแท่นผลิตลดลงรวม 81 แท่น
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบWTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ต.ค. 58กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะซื้อสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 18,195 สัญญา มาอยู่ที่ 160,711 สัญญา
· Petroleum Planning and Analysis Sale (PPAC) ของอินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของโลกรายงานยอดการจำหน่ายน้ำมันในประเทศของอินเดีย เดือน ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.1% อยู่ที่ระดับ 14.7 ล้านตัน Reuters รายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯ ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan Consumer Sentiment Index) ประจำเดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.9 จุด อยู่ที่ 92.1 จุด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลงและการเติบโตของตลาดแรงงาน ที่จะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้ดีในไตรมาส 4
· Sinopec Corp. ของจีนประกาศขยายกำลังการกลั่น และเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์มูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของโรงกลั่นน้ำมัน Jiujiang จากเดิม 100,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นขนาด 200,000 บาร์เรลต่อวัน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มเดินเครื่องในไตรมาส 4/58 ทั้งนี้โครงการดังกล่าวประกอบด้วย Crude Distillation Unit (CDU) หน่วยใหม่ และหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันดีเซลตาม Spec ใหม่ที่เรียกว่า National 5 grade หรือเทียบเท่ากับ Euro 5
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงจากอุปทานน้ำมันล้นตลาดซึ่ง EIA ระบุใน Weekly Field Report ถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 58 และReuters รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของจีนไม่รวมสำรองในคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ในเดือน ก.ย. 58 เพิ่มขึ้น 2.3% จากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 224 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบเข้ากลั่นเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 10.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 1.1%อย่างไรก็ตาม อัตราการกลั่นของโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับต่ำและความต้องการใช้น้ำมันช่วงฤดูหนาว อีกทั้งรัฐบาลจีนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 6 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 58 โดยลดอัตราเงินกู้ลง 0.25%. มาอยู่ที่ 4.35% ,ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% มาอยู่ที่ 1.5% และลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ หรือ Reserve Requirement Ratio (RRR) ลง 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 17.5% มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.58 การปรับลด RRR มุ่งกระตุ้นภาคการผลิตและอุตสาหกรรมรวมทั้งภาคการเกษตร และยังสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ให้เติบโตต่อเนื่องหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานราคาบ้านใหม่ในเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ 70 แห่ง เดือน ก.ย.58 โดยพบว่าราคาบ้านใหม่ใน 39 เมือง เพิ่มขึ้นเป็นรายเดือน ขยับจากเดือน ส.ค.58 ที่มี 35 เมือง ให้ติดตามสถิติทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนที่ นาย Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB จะทบทวนในเดือน ธ.ค.นี้ ว่าจะดำเนินมาตรการ QE เพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ โดยอาจตัดสินใจขยายมาตรการให้นานกว่าที่กำหนดในเดือน ก.ย. 59 ทางด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้ คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 46.75 - 49.53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วน Dubai อยู่ที่ 43.50-46.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI อยู่ที่ 44.15-46.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียถูกกดดันจากราคาน้ำมันเบนซินที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่สหรัฐฯ ตกต่ำ เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มเปิดดำเนินการผลิตหลังสิ้นสุดการซ่อมบำรุง และ CPC จากไต้หวัน จะเริ่มดำเนินการหน่วย RFCC (80,000บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Kaohsiung (220,000 บาร์เรลต่อวัน) อีกครั้ง ในช่วงปลายเดือน ต.ค. 58 หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. 58 ประกอบกับ Platts รายงานรัฐมนตรีน้ำมันอิรัก ได้ตกลงเซ็นสัญญาพัฒนาโรงกลั่นสำคัญ 3 แห่ง ของประเทศโดยโรงกลั่น Basra (210,000 บาร์เรลต่อวัน) เพิ่มหน่วย CDU (70,000 บาร์เรลต่อวัน) และหน่วยผลิต Gasoline (RFCC) รวมทั้งติดตั้งหน่วยผลิต RFCC เพิ่มที่โรงกลั่น Baiji (230,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Daura (140,000 บาร์เรลต่อวัน) เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเบนซิน อย่างไรก็ตามPetroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินภายในประเทศ เดือน ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25% มาอยู่ที่ 15.98 ล้านบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ Egypt Petroleum Corp. (EGPC) จากอียิปต์ ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 95 RON จำนวน 2 เที่ยวเรือ เที่ยวเรือละ 255 – 298 KB ส่งมอบช่วง 5-7 พ.ย. และ 13-15 พ.ย. 58 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลลดลงจากสัปดาห์ก่อน 40,000 บาร์เรล หรือ 0.3 % อยู่ที่ 10.3 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.25-62.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลง จาก Reuters รายงานอุปทานน้ำมันดีเซล ในเดือน พ.ย. 58 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นในจีน และเกาหลีใต้ มีอัตราการกลั่นเพิ่มขึ้น เช่นโรงกลั่น Daesan (390,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการเดินเครื่องเต็มกำลังการกลั่น ซึ่งทำให้จีนส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 4 เท่า มาอยู่ที่ 8.3 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้ง Essar Oilจากอินเดีย เริ่มดำเนินการโรงกลั่น Vadinar (400,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่เดือน ก.ย. 58อย่างไรก็ตาม PPAC ของกระทรวงน้ำมันอินเดีย รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซล ในเดือน ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน20.1% มาอยู่ที่ 43.89 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งทำให้ต้องใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นในการชลประทาน อีกทั้ง Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซล ในเอเชียได้รับแรงสนับสนุนจากโรงกลั่นน้ำมันในเอเชียเหนือปิดซ่อมบำรุงและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากแอฟริกาตะวันตก โดยบริษัท Trafigura ได้ทำการจ้างเรือ MT Yuan Qiu Hu ที่สามารถรองรับน้ำมันสำเร็จรูปได้ถึง 270,000 ตัน เพื่อมุ่งหน้าไปยังแอฟริกาตะวันตก สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.25-59.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล