กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
หลังจากที่โครงการร่วมบริหารหลักสูตรศิลปบัณฑิตสาขาวิชามีเดียอาตส์และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สร้างสรรค์ผลงานสื่อด้านต่างๆ ออกมาระยะหนึ่งแล้ว และล่าสุด มจธ. ได้มีการลงนามความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และคนพิการ ในหน่วยงานต่างๆ ของกรุงเทพฯ ต่อไป
ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานหลักสูตรมีเดียอาตส์ กล่าวว่า ล่าสุดทางสาขามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการโปรเจกเล็กๆ โดยหยิบยกองค์ความรู้ด้านมีเดียทางการแพทย์ขึ้นมาเสริมงานบริการวิชาการเพื่อซ่อมแซมสื่อการเรียนรู้ โดยการรับร่างอาจารย์ใหญ่ที่มีกายภาพเป็นโครงกระดูกจากโรงพยาบาลกลางจำนวน 3 ร่าง เพื่อนำมาซ่อมแซมโดยนำองค์ความรู้ด้านมีเดียทางการแพทย์ที่มีมาบูรณาการ
"เหตุผลที่เรารับร่างโครงกระดูกอาจารย์ใหญ่ทั้งสามร่างมาซ่อมแซมนั้นก็เพื่อนำองค์ความรู้ไปช่วย ชุมชนเป็นงานบริการวิชาการ ปัจจุบันโครงกระดูกอาจารย์ใหญ่มีอยู่ไม่มาก และมีอายุงานอยู่ที่ 20-30 ปีหลังจากนั้นกระดูกก็จะเริ่มผุและเสียหายซึ่งตามโรงพยาบาลหรือสถานศึกษามักไม่มีการซ่อมแซมเพราะหาคนซ่อมยาก ส่วนใหญ่จะซื้อร่างจำลองที่ทำจากเรซินมาใช้แทนแต่มันไม่จูงใจอารมณ์และความรู้สึกในการเรียนรู้
อีกอย่างปัจจุบันคนที่มีองค์ความรู้ด้านนี้มีไม่มาก และยิ่งจะหาคนที่จะรับทำงานเหล่านี้ก็ยิ่งหายาก เราจึงใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาทีมงานและนักศึกษาของเราให้ได้รับองค์ความรู้ใหม่ ได้ศึกษาเกี่ยวกับวัสดุ เพราะเราไม่เคยเจอกระดูกจริง ไม่เคยเรียนรู้จากของจริง เรียนและฝึกกับหุ่นจำลองมาตลอด จึงเป็นข้อได้เปรียบในการเรียนรู้ไปอีกขั้นจากต้นทุนเดิมที่เรามี ดังนั้นงานนี้ทั้งเราและสังคมจึงได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งปีนี้มีเดียอาตส์เองก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำงานลักษณะนี้ต่อไปอีกหลายชิ้น"
ทางด้าน นางสาวรุ่งรวิน บัณฑิตขจร ครูปฏิบัติการด้านมีเดียทางการแพทย์ หนึ่งในผู้ปฏิบัติงานร่วมในโครงการนี้กล่าวเสริมว่า องค์ความรู้หลักๆ สำหรับผู้ที่จะทำการซ่อมแซมโครงกระดูกอาจารย์ใหญ่ได้นั้นต้องมีความรู้พื้นฐานที่สำคัญอย่างอนาโตมีเพื่อการจัดวางสรีระอย่างถูกต้อง และเรื่องวัสดุ ซึ่งหลักสูตรมีเดียอาตส์ มจธ. มีการเรียนการสอนเรื่องนี้อยู่แล้วเพียงแค่นำความรู้มาประยุกต์ใช้
"นักศึกษามีโอกาสได้เจอเคสจริงตอนที่ร่างอาจารย์ใหญ่มาถึง เราให้นักศึกษาเข้ามาสังเกตุและจดบันทึกความเสียหายของร่างเพื่อนำไปวางแผนการซ่อมแซม ในห้องเรียนนักศึกษาจะได้ทดลองซ่อมแซมโครงกระดูกจำลองที่ทำจากเรซินเท่านั้น แต่หลังจากที่ได้มีโอกาสซ่อมโครงกระดูกของจริงก็พบความแตกต่างเนื่องจากโครงกระดูกจริงมีการผุกร่อนไปตามอายุ โดยเฉพาะข้างในที่เป็นโพรง ดังนั้นการซ่อมแซมจึงทำได้ยากและต้องระมัดระวังกว่าโครงกระดูกเรซินซึ่งถ้าซ่อมโดยไม่มีความรู้พื้นฐานเหล่านี้อาจเป็นการทำลายโครงกระดูกให้เสียหายหนักกว่าเดิม และควรใช้วัสดุที่ไม่ทำลายโครงกระดูกและให้สีขาวนวลที่ใกล้เคียงของจริง เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เราสามารถนำไปต่อยอดความรู้ในห้องเรียนให้นักศึกษาได้"
ผศ.บุญเลี้ยง กล่าวทิ้งท้ายว่า การเรียนรู้ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียนหรือรั้วมหาวิทยาลัย ดังนั้นการทำงานบริการวิชาการให้แก่ชุมชนและสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสถานศึกษาเพราะเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา