กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยผลการดำเนินงานปี 2558 ส่งเสริมสนับสนุน SMEs ทั่วไทย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ร้อยละ 30 พร้อมตั้งศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (Business Service Center : BSC) บริการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยอย่างเต็มรูปแบบ รองรับการเติบโตเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ พร้อมชี้ SMEs ไทยยุคศตวรรษ 21 ต้องมีคุณลักษณะเป็น "อินเทลลิเจนท์ เอสเอ็มอี"(iSMEs - Intelligent SMEs) ประกอบด้วย ไอซับพลาย เชน (iSupply chain) ความชาญฉลาดในการพิจารณาและบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ไอโปรดักส์(iProduct) ฉลาดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ไอโพรเซส (iProcess) SMEs ไทย ต้องสามารถวางแผนและบริหารจัดการกระบวนการผลิตอย่างชาญฉลาดเพื่อศักยภาพการผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด ไอเน็ตเวิร์ค (iNetwork) ฉลาดในการสร้างเครือข่ายธุรกิจ และ ไออองเทรอเพรอเนอ(iEntrepreneurs) ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพบริหารจัดการกิจการได้ทุกสถานการณ์ ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็ง SMEs ไทยสามารถประกอบธุรกิจและปรับตัว ได้อย่างมีพลวัต ไม่หวั่นผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า การดำเนินงานส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ของ กสอ. ประจำปีงบประมาณปี 2558 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานผ่านโครงการต่าง ๆ กว่า 70 โครงการ อาทิ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสาขาเป้าหมายเพื่อให้พร้อมรับการเปิดเสรี AEC โครงการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ฯลฯ โดยตลอดปี 2558 มีสถานประกอบการ SMEs เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ จำนวน 2,762 กิจการ และพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 405 กลุ่ม ผู้ประกอบการและบุคลากรได้รับการพัฒนา 19,880 คน จำแนกเป็นผู้ประกอบการ 8,208 คน เป็นบุคลากร ในภาคอุตสาหกรรม 11,672 คน โดยผลผลิตดังกล่าว สามารถจำแนกเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ได้ 1,643 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ร้อยละ 30 และลดต้นทุนได้ร้อยละ 6
ดร.สมชาย กล่าวถึงนโยบายปี 2559 ว่า ได้วางนโยบายเร่งด่วนเพื่อดำเนินการในปีหน้านี้ ซึ่งมีมาตรการดังนี้
- สร้างความพร้อมให้ SMEs ในทุกจุด โดยเน้นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันจากการพัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ เน้นการสร้างความสอดคล้องกับตลาดและนวัตกรรม โดยสาขาที่เน้น ได้แก่ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ อาหาร และเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรม และระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ให้เข้มแข็ง เน้นด้านนวัตกรรมดิจิทัลมากขึ้น
- เร่งให้ SMEs สามารถเข้าถึงมาตรการต่างๆ ของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับ SME Bank ในการส่ง SMEs ที่ผ่านการอบรมหรือโครงการต่างๆ ของ กสอ. เข้าถึงเร่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยขณะนี้กำลังหารือกับธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ เพื่อทำ MOU นอกจากนี้ได้หารือกับ สวทช. ในการทำ MOU ที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อรวมโครงการระหว่าง CF กับ iTAP อย่างไรก็ตาม กสอ. ยังได้มอบนโยบายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ดำเนินการหารือกับธนาคารต่างๆ ในการทำความเข้าใจกับ SMEs เพื่อใช้มาตรการสินเชื่อของรัฐ
- ขยายความร่วมมือกับต่างประเทศ โดย กสอ. ได้ร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในโครงการเพื่อช่วยเพื่อน OTAKAI ที่ผ่านมามี 12 จังหวัด ปีนี้จะร่วมกับอีก 1 จังหวัด และต้นปีกำลังประสานงานกับอีกหนึ่งจังหวัด และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่าง MOU กับฮ่องกง
- เร่งเปิด BSC ทั้ง 11 ศูนย์ภาคฯ และ 2 แห่งในส่วนกลาง เพื่อเป็นศูนย์รับบริการ SME
สำหรับการจัดทำ "โครงการการจัดตั้งศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม(Business Service Center : BSC)" เป็นการวางแนวทางอำนวยความสะดวกในการประกอบการแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ มุ่งให้บริการข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การขยายธุรกิจ การปรับปรุงการบริหารจัดการ การให้คำปรึกษาแนะนำ และจัดที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ ในด้านต่าง ๆ ลงไปช่วยในการพัฒนา อาทิ ด้านการตลาด การผลิตและเทคโนโลยี บัญชีและการเงิน การบริหารจัดการทรัพยากร การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาเพื่อขอรับมาตรฐาน ISO9000/ฮาลาล/GMP/HACCP โดยเปิดให้บริการใน 3 ช่องทาง คือ เข้ามารับบริการปรึกษาแนะนำที่ศูนย์บริการฯ โดยตรง หรือ ติดต่อผ่าน Call Center หมายเลข 1358 โทรศัพท์ 0 0202 4426 หรือ ขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) www.dip.go.th ทั้งนี้ ศูนย์บริการฯ จะเปิดให้บริการในพื้นที่ส่วนกลาง และประจำที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยขณะนี้นำร่องให้บริการอย่างสมบูรณ์แล้ว 4 แห่ง ได้แก่อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พระรามที่ 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล้วยน้ำไท ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จ.สงขลา
ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้นโยบายส่งเสริม SMEs เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้นปัจจัยการผลิตเดิมซึ่งใช้ประโยชน์จากที่ดิน แรงงาน และ ทุนสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยความรู้และความคิดสร้างสรรค์ และเนื่องด้วยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทย มากว่า 73 ปี ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรม ในทุกช่วงเวลา จึงได้มีการกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของอุตสาหกรรมไทยตามเทรนด์หรือความต้องการของผู้บริโภคในช่วงนั้น ๆ เพื่อเป็นแนวทางผลักดันธุรกิจ SMEs ไทย ให้มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2001- ค.ศ. 2100) นี้ ต้องมีคุณลักษณะ"อินเทลลิเจนท์ เอสเอ็มอี" (iSMEs - Intelligent SMEs) ในการประกอบธุรกิจสามารถปรับตัวได้อย่างมีพลวัต จะช่วยให้ยืนหยัดอยู่ได้ในเวทีการค้าของอาเซียนได้ ซึ่งความเป็น "Intelligent" ดังกล่าว ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ ไอซับพลาย เชน (iSupply chain) ความชาญฉลาดในการพิจารณาและบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ไอโปรดักส์ (iProduct) การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและระดับสากล ไอโพรเซส (iProcess) SMEs ไทยยุคใหม่ต้องสามารถวางแผนและบริหารจัดการกระบวนการผลิต ได้อย่างชาญฉลาดเพื่อศักยภาพการผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด สามารถลดต้นทุนในทุกๆ ด้าน ไอเน็ตเวิร์ค (iNetwork) ชาญฉลาดในการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ซึ่ง กสอ. มีโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) รองรับการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ และและ ไออองเทรอเพรอเนอ (iEntrepreneurs) ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพบริหารจัดการกิจการได้ทุกสถานการณ์ ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่
อย่างไรก็ตาม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณลักษณะ iSMEs จะเป็นแนวทางให้ SMEs ทั้งรายเก่าและรายใหม่สามารถปรับตัวได้เพื่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ SMEs ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ที่ผ่านมานั้นถือว่าดีขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ จีนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.5 สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 (ที่มา : ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) อย่างไรก็ดี แม้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 สถานการณ์ค่าเงินบาท จะอ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบการของ SMEs แต่เชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นภายใน สิ้นปีแน่นอน ดร.สมชาย กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr