กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--ประชาสัมพันธ์ อพวช.
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการแถลงข่าวความพร้อมการจัดงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558" (National Science and Technology Fair 2015) ภายใต้แนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม" ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการแห่งปี รวมสุดยอดนิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2558 ตั้งเป้ามีผู้เข้าชมงานเป็นกลุ่มเยาวชน ครอบครัวและประชาชนทั่วไปกว่า 1.2 ล้านคน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" พร้อมกันนี้ เพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ที่องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ปีนี้เป็น "ปีดินสากล" (UN International Year of Soils) และ "ปีสากลแห่งแสง" (UNESCO International Year of Light) ตามมติขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติอีกด้วย มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งปีระดับประเทศ และแถบภูมิภาคเอเชีย ในการแสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่ทันสมัย และศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย โดยการผนึกกำลังร่วมกันของ 9 กระทรวง 7 ประเทศ มากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และปีนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศมากกว่า 10 หน่วยงานเข้าร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าทาง วทน. ได้แก่ ญี่ปุ่น (10 หน่วยงาน) จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เพื่อกระตุ้นความสนใจแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนที่ต้องเติบโตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศในวันข้างหน้า รวมถึงการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อไป
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมถึงความยิ่งใหญ่ของงานในครั้งนี้ว่า ภายในงานมีหลากหลายโซน มากมายกิจกรรมและองค์ความรู้ให้ทุกคนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิทรรศการ Food Science – Techno Mart การประกวดและแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ การประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมการนำเอาเทคโนโลยีและมัลติมีเดียใหม่ๆ มาใช้ในการจัดแสดง เพื่อให้มีความทันสมัย สร้างประสบการณ์ใหม่ เปิดมุมมองการเรียนรู้ผ่านสื่อ Interactive กับนิทรรศการรูปแบบ 4D Simulator ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าชมสัมผัสเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างมีความสุข สนุกสนาน และเกิดประสิทธิภาพ นอกจากนี้แล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังนำผลงานวิจัยทาง วทน. ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่จะช่วยสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน รวมทั้งภาคเอกชนและประชาชนมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ ช่วยเพิ่มผลผลิตในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมทั้งในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และระดับประเทศอีกด้วย
มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ ได้เพิ่มเติมกิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัยให้ได้ร่วมสนุกและทดลอง โดยมีนิทรรศการที่ไม่ควรพลาด คือ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ (Royal Pavilion) ที่นำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และนำเสนอพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และ พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" รวมทั้ง นิทรรศการปีดินสากลใน Soil Pavilion เพื่อเทิดพระเกียรติพระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านในฐานะที่ทรงเป็น "นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม" พระองค์แรกของโลก ที่ทรงสร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติและนานาชาติจนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน
ดร.พิเชฐ กล่าวแนะนำเพิ่มเติมถึง นิทรรศการหลัก ที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สัมผัสประสบการณ์ 4D Simulator ที่ทุกคนรอคอย...กับจำลองสถานการณ์ให้ผู้ชมอยู่บนเรือมหัศจรรย์ ล่องไปท่ามกลางอุบัติภัยทางธรรมชาติ ด้วย 4D Effect สมจริง เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเราและการช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อการดำรงอยู่อย่างสมดุลบนโลกใบนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพลิดเพลินกับการค้นหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านภาพยนตร์ 3 มิติ เรื่องการกำเนิดโลก และไฮไลท์ที่จะได้พบกับการค้นพบสิ่งมีชีวิตขยายพันธุ์ใหม่ของโลก "ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่" และ มดต้นไม้สิรินธร ปีสากลแห่งแสง ที่จะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวของแสงกับชีวิต ท่องเข้าไปในอุโมงค์ที่จะทำให้เราได้ทดลองสัมผัสความรู้สึก "หากไร้แสงสว่าง...ปราศจากการมองเห็น" แล้วเราจะเป็นเช่นไร ของเล่นภูมิปัญญาไทยและช้างไทย ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและความเชื่อของไทยในมุมมองวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมสำหรับเยาวชน ได้แก่ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ลานกิจกรรมพัฒนาปัญญาเยาว์ ลานกิจกรรมประกวดแข่งขัน ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ด้านนายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวถึงความพร้อมในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดงานในครั้งนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2558 แล้วซึ่งปกติจะมีการจัดงานขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี เนื่องด้วยตรงกับเดือนแห่งวิทยาศาสตร์ของไทย แต่ในปีนี้ได้เลื่อนมาจัดงานในช่วงปลายปีเดือนพฤศจิกายน ทำให้มีเวลามากขึ้นในการจัดงานให้ยิ่งใหญ่อลังการกว่าทุกปีที่ผ่านมา เต็มพื้นที่อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์พร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค ระบบการจราจร การบริการรถรับ-ส่ง การปฐมพยาบาล การรักษาความปลอดภัย การบริการต้อนรับ ร้านค้าร้านอาหาร พร้อมเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลต้อนรับและอำนวยความสะดวกผู้เข้าชมงานที่คาดว่าปีนี้จะมีมากถึงกว่า 1.2 ล้านคน
"ขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2558 ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.00-20.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมสนุกและเรียนรู้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเข้าชมได้อย่างเพลิดเพลิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมและร่วมกิจกรรม พร้อมพบกับ 2 ดาราดังพรีเซนเตอร์ของงาน เกรท วรินทร ปัญหกาญจน์ และ แพทริเซีย กู๊ด ที่จะมาร่วมสร้างสีสันในงานครั้งนี้ด้วย" ดร.พิเชฐฯ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.nsm.or.th/nstf2015 หรือ Facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสอบถามข้อมูลที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9960