กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่าจากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการของภาครัฐในการให้บริการประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกการบริการภาครัฐ ลดขั้นตอนการดำเนินงานให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และหลากหลายอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคม ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารบนเครือข่ายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
กระทรวงไอซีที โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ได้พัฒนาศูนย์กลางข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ โดยใช้ชื่อ "ศูนย์กลางข้อมูลและบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (Government Access Channel : G-Channel)" เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐของหน่วยงานต่างๆ ได้จากจุดเดียว และต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มและทุกท้องถิ่นอย่างเท่าเทียม โดยผ่าน 3 ช่องทางหลัก ดังนี้ 1.ศูนย์รวมบริการภาครัฐในรูปแบบเว็บไซต์ (Government e-Service Website Portal) ประกอบด้วย (1) เว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ผ่าน www.egov.go.th รวมบริการ 2,574 เว็บไซต์ จาก 454 หน่วยงาน (2) ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ผ่านเว็บไซต์ www.data.go.th เป็นศูนย์รวมข้อมูลสาธารณะและข้อมูลภาครัฐในรูปแบบมาตรฐานเปิด ทั้งนี้ ปัจจุบันมีข้อมูลภาครัฐที่เปิดเผยแล้วจำนวน 285 ชุดข้อมูล จาก 38 หน่วยงาน และ (3) ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ ผ่านเว็บไซต์ www.Info.go.th โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) และ EGA ในการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ที่มีอยู่ในคู่มือประชาชนของทุกหน่วยงาน ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
2.ศูนย์รวมบริการภาครัฐในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชัน (Government Mobile Application Portal) เป็นช่องทางสำหรับประชาชนที่มีอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ในการเข้าถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ผ่านเว็บไซต์ www.apps.go.th จำนวน 108 บริการ จาก 68 หน่วยงาน และ 3.การเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐ ผ่านตู้บริการอเนกประสงค์ของรัฐ (Government Kiosk) ที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป็นช่องทางเสริมในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการต่างๆ ของภาครัฐ ปัจจุบันมีข้อมูลบริการของรัฐ จำนวน 8 ระบบ จาก 4 หน่วยงาน โดยติดตั้งแล้ว 3 แห่ง ที่ศูนย์บริการร่วม (Government Service Point : G-Point) สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลศาลายา และโรงพยาบาลราชวิถี
นอกจากนี้ยังดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ในพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นช่องทางเสริมในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (Government Smart Box) ในรูปแบบบริการออนไลน์ (e-Service) โดยจะเร่งติดตั้งในพื้นที่ให้บริการของหน่วยงานรัฐ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สำหรับเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารภาครัฐไปยังประชาชน ซึ่งปัจจุบันได้นำร่องติดตั้ง Government Smart Box จำนวน 27 เครื่อง ณ จุดให้บริการของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
"รัฐบาลมีนโยบายที่จะยกระดับการให้บริการประชาชนผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงที่สมบูรณ์ครอบคลุมการให้บริการแก่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างเต็มรูปแบบเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ กระทรวงไอซีที โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะเปิดตัว G-Channel อย่างเป็นทางการกลางเดือนพฤศจิกายน 2558 นี้ รวมทั้งจะพัฒนาและแนะนำแอปพลิเคชันและชุดข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติมในช่วงต้นปี 2559" ดร.อุตตม กล่าว