มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.)

ข่าวทั่วไป Friday February 23, 2001 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--มพช.
จุฬาฯ ชนะประมูลงานรับเป็นที่ปรึกษาในการติดตามและประเมินผลโครงการ มพช. ของสำนักงบประมาณ ด้วยวงเงิน 14.5 ล้านบาท เริ่มงานประเมินแล้วใน 5 โครงการ ต้องรายงานสำนักงบประมาณ ทุกรายเดือน และราย 3 เดือน หากประเมินแล้วพบว่าการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ สำนักงบประมาณอาจพิจารณาเรียกเงินเดือนจากผู้ดำเนินการโครงการได้
นายอำพล ทิมาสาร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลโครงการภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯได้ทำการคัดเลือกสถาบันการศึกษาซึ่งมารับเป็นที่ปรึกษาโครงการในการติดตามและประเมินผลของโครงการ มพช. แล้ว ซึ่งตัดสินให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ชนะประมูลในครั้งนี้ด้วยวงเงิน 14.5 ล้านบาท โดยสามารถชนะสถาบันราชภัฏสวนดุสิตและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชผู้เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้
เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการประกอบด้วย ส่งเสริมการสร้างรากฐานในการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่น แก้ปัญหาฯหนี้สินของนอกระบบแก่องค์กรชุมชนเมืองและชนบท พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามชุมชนต่างๆ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างต่อเนื่องและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐ
ดังนั้นกรอบการประเมินและติดตามผลของทุกโครงการตามโครงการ มพช. ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ กล่าวคือ กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมาย เกื้อกูลหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงาน การเปรียบเทียบผลงานกับวัตถุประสงค์ โดยมีปัจจัยและวิธีการประเมินทั้งเรื่องของงบประมาณ บุคลากร วัสดุครุภัณฑ์ นโยบาย แผนงาน การออกแบบโครงการ ระบบงาน ระบบข้อมูล การพัฒนาบุคลากร การประสานงาน การรายงาน และการติดตามผล การตรวจสอบ
การประเมินผลจะมุ่งเน้นถึงผลสัมฤทธิตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ปานกลาง หรือระยะยาว สำหรับผลลัพธ์การประเมินอาจจะทำผลงานการศึกษาและวิจัย ผลกระทบเชิงคุณภาพและมหภาค ตลอดจนความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายและประชาชนโดยทั่วไปและการศึกษาจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขของแหล่งเงินกู้ที่ได้กำหนดไว้ด้วย
"โดยภาพรวมแล้ว การประเมินและติดตามผลของโครงการ มพช. คือ การศึกษาวิเคราะห์งานโครงการที่ได้รับรางวัลสรรงบประมาณเพื่อดูว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของการบริหารโครงการและผลสัมฤทธิตามมาตรการ" นายอำพลกล่าว
นอกจากนี้นายอำพลยังได้กล่าวเสริมอีกว่า การที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องจัดทำรายการประเมินฯ ทุก 1 เดือนและทำรายงานการประเมินฯ ราย 3 เดือนให้กับสำนักงานงบประมาณนั้น จุฬาฯจะต้องดำเนินการให้ลักษณะการวิจัยภาคสนาม ควบคู่ไปกับการวิจัยเอกสาร โดยจุฬาฯต้องลงพื้นที่ปฏิบัติด้วย และเพื่อให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติจุฬาฯ จะต้องประสานกับหน่วยเคลื่อนที่ 18 หน่วยและศูนย์อำนวยการภาค 4 ศูนย์อย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับโครงการที่จุฬาฯต้องทำรายงานการประเมินฯ มี 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ้น โครงการเสริมความเข้มแข็งขององค์การเมืองและชนบท โครงการไทยเที่ยวไทยและท่องเที่ยวเชิงเกษตร โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการภาครัฐ และโครงการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาล รวมวงเงินโครงการทั้งสิ้น 4245.73 ล้านบาท
"หากผลการประเมินของจุฬาฯ และของคณะอนุกรรมการติดตามผลออกมาพบว่า มีโครงการที่มีผลลัพธ์ไม่ได้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ ตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดและไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขเงินกู้ สำนักงบประมาณพิจารณาให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทบทวนโครงการและหากเห็นว่าโอกาสที่จะบรรลุผลสัมฤทธิมีความเป็นไปได้น้อย ก็อาจจะพิจารณาเรียกเงินคืนให้" นายอำพลกล่าวในตอนท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช. โทร.279-8001, 279-7937 และ 616-2214-5--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ