กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--Sugar Smart PR & Marketing Consulting
นิสิต นักศึกษาไทยจะประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็นในการใช้ชีวิตประจำวันหยิบวัตถุที่หล่นพื้น หลบหลีกสิ่งกีดขวาง อ่านป้ายรถโดยสารและเลือกสีเสื้อผ้า
เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้พิการนั้นมีข้อจำกัดในการดำรงชีวิต ซึ่งถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมากที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้พิการแต่ก็ยังไม่เพียงพอ และจากสถิติพบว่าจำนวนผู้บกพร่องทางการเห็นที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการสูงถึง 189,407 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จึงจับมือสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประดิษฐ์อุปกรณ์ในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บกพร่องทางการเห็น ภายใต้หัวข้อ "การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 2" หรือ "THE 2ND THAILAND INNOVATION FOR ASSISTIVE TECHNOLOGY CHALLENGE: THE 2ND TIATCH"
โจทย์การประกวดในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางการเห็นให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากทีมชนะเลิศจะได้รับรางวัลถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีแล้ว ยังจะได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติในงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 10 (10th International Convention on Rehabilitation Engineering & Assistive Technology - i-CREATe) ในปี พ.ศ. 2559 อีกด้วย
นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "จากที่ซีเกทได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในระดับอุดมศึกษาผ่านการแข่งขันหุ่นยนต์หลายรายการ เราได้เห็นว่าศักยภาพของน้องๆ นิสิต นักศึกษาไทยมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน้องๆ เหล่านี้ก็เคยได้แสดงความสามารถและคว้ารางวัลจากเวทีระดับนานาชาติมาแล้ว เช่น ทีมหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์เตะฟุตบอลซึ่งเคยชนะเลิศจากการแข่งขันระดับประเทศที่ซีเกทเป็นผู้สนับสนุน และได้ไปคว้ารางวัลระดับต้นๆ ของโลกมาด้วย จึงกล่าวได้ว่า เด็กไทยมีศักยภาพสูงไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่ 2 ที่ซีเกทได้ร่วมมือกับทางสมาคมฯ ในการริเริ่มจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการ เพราะเรามองเห็นว่าการแข่งขันประเภทนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ตัวน้องๆ ในด้านความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ แล้ว พวกเขายังจะได้ความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสนำความรู้ที่ศึกษามาช่วยเหลือผู้พิการในสังคมอีกด้วย" ทั้งนี้ ซีเกท ประเทศไทยในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการประกวดเป็นปีที่ 2 ได้มอบเงินสนับสนุนการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 2.4 ล้านบาท ซึ่งจากเงินจำนวนนี้คิดเป็นเงินรางวัลและเงินสนับสนุนที่จะมอบให้แก่ทีมนิสิต นักศึกษารวมกว่า 950,000 บาท
"ความร่วมมือในการจัดการแข่งขันเพื่อผู้บกพร่องทางการเห็นในครั้งนี้จะเป็นเวทีที่ต่อยอดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไปสู่โซลูชั่นที่มีคุณค่า ซีเกทคาดว่าอีกไม่นาน เราจะได้เห็นการศึกษาไทยพัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐที่กำหนดให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป" นางสาวศิริรัตน์ กล่าวเสริม
คุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ ประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า "เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ผู้บกพร่องทางการเห็นไม่สามารถดำเนินชีวิตเหมือนคนสายตาปกติทั่วไปได้ การที่สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้บกพร่องทางการเห็น และมีแนวคิดที่จะนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาพัฒนา เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งสำหรับผู้บกพร่องทางการเห็นทั่วประเทศ"
รองศาสตราจารย์ ดร. สัญญา มิตรเอม นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อคนพิการ ทางสมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมที่ได้จากการประกวดครั้งนี้จะช่วยลดข้อจำกัดและเพิ่มขีดความสามารถของผู้บกพร่องทางการเห็น ซึ่งเป็นการเติมเต็มโอกาสในด้านต่างๆ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นแก่พวกเขาต่อไป"
รองศาสตราจารย์ ดร. ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานจัดการแข่งขันและตัวแทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า "การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 2 จะเป็นการเสริมสร้างทักษะและพัฒนาศักยภาพของนิสิต นักศึกษาในการประดิษฐ์สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้บกพร่องทางการเห็น กิจกรรมการแข่งขันเป็นการจำลองสถานการณ์การใช้ชีวิตประจำวัน อันประกอบไปด้วย 4 แบบ คือ การหยิบวัตถุที่หล่นพื้น การหลบหลีกสิ่งกีดขวาง การอ่านป้ายรถโดยสาร และการเลือกสีเสื้อผ้า ซึ่งโจทย์เหล่านี้เป็นความท้าทายในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บกพร่องทางการเห็น หากเราสามารถช่วยแก้โจทย์เหล่านี้ได้ ผู้บกพร่องทางการเห็นก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากยิ่งขึ้น"
สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องเป็นนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนและสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทางออนไลน์ได้ที่ www.tiatch.com ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 พร้อมติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: tiatch.com