กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--คอร์แอนด์พีค
สสว. ต่อยอดธุรกิจเครือข่ายเอสเอ็มอีอย่างเข้มแข็ง ด้วยการจัดงานสัมมนา "ด้วยเครือข่าย... SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน"ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด มุ่งเสริมความรู้เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ พร้อมชี้ช่องทางต่อยอดธุรกิจร่วมกันระหว่างเครือข่าย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ล่าสุดลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยครบวงจร ณ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุโข อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. เปิดเผยว่า สสว. ได้จัดงานสัมมนา "ด้วยเครือข่าย...SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน"เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ และความสำคัญด้านแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในรูปแบบการสร้างเครือข่าย เพื่อต้องการยกระดับความสามารถด้านการผลิต นวัตกรรม การเชื่อมโยงและพัฒนา รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดและแนวทางในการต่อยอดธุรกิจร่วมกันของผู้ประกอบการและเครือข่ายให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
"การสัมมนาครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจ ตลอดจนเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในลักษณะเครือข่าย เพื่อสร้างโอกาสในการทำความรู้จัก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนากิจกรรมระหว่าง SME ในอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกพื้นที่ สามารถต่อยอดเป็นสังคมหรือเครือข่ายที่มีพลังอำนาจในการต่อรอง และผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยการคัดเลือกกลุ่มเครือข่าย SME ทั่วประเทศรวม 54 เครือข่าย ทั้งในภาคเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรม การค้า และบริการ ให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนา โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 18 เครือข่าย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 17 เครือข่าย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 7 เครือข่าย กรมส่งเสริมการเกษตร 6 เครือข่าย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 2 เครือข่าย กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมหม่อนไหม หน่วยงานละ 1 เครือข่าย ทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงสนับสนุนเครือข่ายสู่การพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไม่น้อยกว่า 10,000 ราย สร้างโอกาสทางการตลาดรวมถึงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท"
นางสาวจิราลักษณ์ ปรีดี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า "ศูนย์ฯ มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหม มีการให้ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหม ทั้งในรูปกลุ่มและเกษตรกรรายย่อย โดยส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมต้นน้ำ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป โดยจะมีการฝึกอบรมให้ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น พันธุ์หม่อน พันธุ์ไหม เครื่องมือสาวไหม วัสดุอุปกรณ์การฟอกย้อม และทอผ้าไหม วัสดุแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมกิจกรรมในระดับกลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ การติดตามให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหา ให้การรับรองมาตรฐานสินค้าหม่อนไหม ได้แก่ เส้นไหม และผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ส่งเสริมการรวมกลุ่ม การสร้างเครือข่าย การบริหารจัดการกลุ่มหรือเครือข่าย ส่งเสริมด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์สินค้าในรูปแบบและช่องทางต่าง ๆ บูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพัฒนากลุ่มประสบความสำเร็จ โดยจำแนกรูปแบบการช่วยเหลือบูรณาการออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมเหมือนกัน จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้เปรียบเทียบและนำไปปรับปรุงพัฒนา อาจให้มีการรวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิต รวมกลุ่มกันขายผลผลิต ฯลฯ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมต่างกันแต่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน เช่น ผู้ปลูกหม่อน ผู้ผลิตเส้นไหม ผู้ผลิตผ้าไหม ผู้ผลิตชาใบหม่อน ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยงไหม จัดให้มีการพบปะซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการปริมาณมากพอในราคาที่เหมาะสม ผู้ขายก็มีโอกาสในการขายมากขึ้นและรู้ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปปรับปรุงสินค้าของตน
"ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ทำหน้าที่ดูแลเกษตรกรครอบคลุมทั้งในรูปกลุ่มและเกษตรกรรายย่อย ไม่ได้เน้นว่าต้องเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ฯ ครอบคลุม 2 จังหวัด คือ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ มีผู้ประกอบการด้านหม่อนไหมประมาณ 10,000 ครัวเรือนและมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมไหมขอนแก่น จัดกิจกรรมการประชุมสัมมนาเครือข่ายหม่อนไหมระดับประเทศ และจัดงานตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทย ปีละ 1 ครั้ง ในส่วนของผลิตภัณฑ์ของจังหวัดขอนแก่น ส่วนใหญ่จะเน้น เส้นไหมไทย ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมรูปแบบต่างๆ ที่มีลวดลายและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัด รวมถึงชาใบหม่อนและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากไหม ฯลฯ" นางสาวจิราลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายทวี สุขโข ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุโข กล่าวว่า การเสริมสร้างศักยภาพเครือข่าย SME ในภาคอีสาน ได้รับการสนับสนุนจาก สสว.และศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดขอนแก่น และกรมหม่อนไหม ในลักษณะการสนับสนุนกับเครือข่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในระดับต้นน้ำ กลุ่มฯ ได้มีการเตรียมพื้นที่ทางการเกษตรสำหรับการปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม โดยมีกรมหม่อนไหมได้เข้ามาสนับสนุนช่วยฝึกอบรม และแนะนำเทคนิคการสาวไหมให้เป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนพันธุ์ไหมและหม่อนที่ใช้เลี้ยงไหม ทำชาใบหม่อนและหม่อนผลพันธุ์ หลังจากนั้นก็ส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกิจกรรมที่ได้จากระดับต้นน้ำ เช่น ผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน เบเกอรี่ลูกหม่อน กิ่งพันธุ์หม่อนใบและหม่อนผล น้ำชีวภาพหม่อน/ใบหม่อน รวมทั้งมูลหม่อนในการย้อมสีไหม
ในส่วนของกลางน้ำ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข เป็นกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติที่มีลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือ "ลายนพเกล้าเฉลิมพระเกียรติ" รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมภายใต้แบรนด์ "มาคา" (MAKA BRAND) โดยได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งภายในและต่างประเทศซึ่งขบวนการฟอกย้อม ภายใต้มาตรฐาน Organic ในระดับสากล และได้รับการรับรองมาตรฐาน Green Production, Global Organic Textile Standard ซึ่งเป็นผ้าไหมแบรนด์เดียวที่ย้อมสีธรรมชาติด้วยน้ำหมักชีวภาพแบบย้อมเย็น และเลือกใช้วัสดุให้สีจากในท้องถิ่น เช่น จากต้นราชพฤกษ์ มะเกลือ ปุ๋ยคอก วัชพืช รวมทั้งไม้ประดับที่ให้สมาชิกปลูกเพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพและขยะในชุมชนที่ย่อยสลายได้ นำมาหมักชีวภาพเป็นและน้ำชีวภาพ มาทำเป็นน้ำสีชีวภาพสำหรับการย้อมไหมและเป็นปุ๋ยชีวภาพที่ใช้ในการเกษตร สำหรับกากชีวภาพที่เหลือ ยังนำมาใช้เป็นปุ๋ยหรือปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดได้ด้วย สิ่งเหล่านี้ เป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งเรานำมายกระดับการบูรณาการให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
สำหรับส่วนของปลายน้ำ ก็ได้รับการสนับสนุนกิจกรรมให้ไปศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เช่น การจัดแสดงสินค้า การดูงานที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าประเทศอินเดียที่มีความต้องการที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพราะการตลาดของประเทศอินเดียมีความเปิดกว้างพอสมควร ซึ่งในหลักการจำเป็นต้องหาข้อมูลการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมที่จำเป็นอีกมาก อาทิ นวัตกรรมป้องกันยุง นวัตกรรมต้านเชื้อแบคทีเรีย นวัตกรรมการซัก เพื่อความสะดวกในการใช้งานและตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
นายทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ได้รับจากโครงการส่งเสริมศักยภาพเครือข่าย SME นั้น ทำให้ผู้ประกอบการมองทุกประเด็นปัญหาแบบ 360 องศา รวมทั้งมีแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น ในขณะที่ก่อนหน้าจะเข้าร่วมโครงการ ฯ ยังมองปัญหาต่างๆ ในมุมแคบ เห็นระยะของปัญหาแบบใกล้ๆ แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้มองประเด็นปัญหาจากอดีต ความจริงในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตข้างหน้า เพื่อหาแนวทางในการสร้างความมั่นคง ยั่งยืน รวมถึงมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งสามารถทำให้เอาตัวรอดและเอาชนะคู่แข่งทางการตลาดได้ในทุกสถานการณ์ มุ่งเน้นในการค้นหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ในแต่ละวิกฤติให้ได้เพื่อนำโอกาสนั้นๆ มาสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันเวลา นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ได้คิดค้นหาแนวทางในการสร้างโอกาสให้ลูกค้าได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับคนในชุมชน เพื่อศึกษาเรียนรู้ดูงาน รวมทั้งเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนได้รับโอกาสในการสร้างงาน สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวชุมชน กลายเป็นวิถีใหม่ของคนในชุมชนคือการให้บริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่หลากหลาย ตอบโจทย์รายได้ของคนในชุมชน ทำให้ชุมชน "บ้านดอนข่า" กลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยวในนามหมู่บ้านสิ่งทอนาโน หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบที่ทางภาครัฐได้ส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นทางการ
การจัดสัมมนา "ด้วยเครือข่าย...SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด กำหนดจะจัดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยครั้งต่อไปจะจัดที่ภาคภาคเหนือ และภาคกลาง (กรุงเทพมหานคร) สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 08-3823-9116