กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--โพร์ พีแอดส์
สถาบันวัคซีนฯเป็นเจ้าภาพสร้างเครือข่าย "ระบบนำส่งวัคซีน"ของไทย หวังผนึกกำลังเครือข่ายในระบบนำส่ง ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมฤทธิ์การให้วัคซีน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเดิม"วัคซีนไข้หวัดใหญ่"เป็นตัวแรก
ศ.ภญ.ดร.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า "ระบบนำส่งวัคซีน"คือ การเตรียมวัคซีนในรูปแบบต่างๆที่สามารถควบคุมให้ปลดปล่อยในอัตราและปริมาณที่กำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการใช้วัคซีน เป็นวิธีการนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย จนร่างกายสามารถผลิตสารน้ำและเซลล์ภูมิคุ้มกันจำเพาะที่มีฤทธิ์ป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ คงอยู่ยาวนานเพียงพอตามต้องการ ซึ่งปัจจุบันนั้นวัคซีนมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ผู้ใช้ต้องเลือกเทคโนโลยีให้เหมาะกับตัวผลิตภัณฑ์และวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และตอนนี้มีหลายๆมหาวิทยาลัยที่มีการวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีระบบนำส่งวัคซีน มีทั้งประเภทระบบแผ่นแปะ หยอดจมูก และมีทุกคณะเภสัชของทุกมหาวิทยาลัยให้ความสนใจหันมาทำในเรื่องของวัคซีนแล้ว เนื่องจากยาเราทำมานานและเริ่มจะอิ่มตัว อาจารย์หลายๆท่านจึงเริ่มหันมาทำในเรื่องของวัคซีนเพิ่มขึ้น
สำหรับการที่กลุ่มผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมาทำงานร่วมเป็นเครือข่ายในระบบนำส่งนั้น นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากเรามีตัวแอนติเจนเพียงไม่กี่ตัว ถ้ามีความร่วมมือกัน แต่ละคนก็ถนัดในแต่ละอย่าง ถ้าเรามาร่วมมือกันแล้วผลักดันออกมาให้เป็นวัคซีนของเราเอง 1 ตัวที่เป็นตัวเด่นๆ ภายใน 5 ปี แล้วค่อยพัฒนาต่อไปในปีถัดๆไป
จากเดิมที่นักวิจัยต่างคนต่างทำ พอมีสถาบันวัคซีนมาให้การสนับสนุน มาช่วยจุดประกายนำเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้มารวมตัวกัน เพื่อประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน สนับสนุนด้านการอบรมและมีการประชุมวางแผนงานร่วมกันข้างหน้าว่าจะทำอะไรบ้าง
ซึ่งแผนระยะสั้นที่เครือข่ายในระบบนำส่งมีการวางร่วมกันไว้ คือ เน้นเรื่องไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเรามีแอนติเจนของเราเอง เป็นแอนติเจนที่นิ่งแล้ว มีอาจารย์หลายท่านให้ความสนใจและจะร่วมมือกันทำจากนั้นก็จะเป็นวัคซีนเจอีและวัคซีนรวม และจะมีการคิดสูตรในด้านการเก็บรักษาวัคซีน จะพัฒนาให้วัคซีนสามารถทนอุณหภูมิสูงได้ ทำให้วัคซีนคงทนต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เสื่อมคุณภาพง่ายเกินซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
"วัคซีนถือเป็นความมั่นคงของชาติอย่างหนึ่ง แต่เดิมอาจคิดไม่ถึงว่าวัคซีนสำคัญและจำเป็นขนาดไหน เห็นได้จากตัวอย่างเมื่อปี 2009ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกหลายประเทศต้องการวัคซีนเพื่อปกป้องประชาชน แม้ขณะนั้นเราจะมีเงินซื้อ แต่บริษัทผลิตวัคซีนเขาก็เลือกที่จะผลิตให้กับภายในประเทศเขาก่อน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องยืนบนขาของตัวเองให้ได้ เราอาจไม่ทำวัคซีนได้ทุกตัว แต่เราต้องรู้ถึงกระบวนการ ขั้นตอน เพื่อให้สามารถมีวัคซีนไว้ใช้ได้ในยามฉุกเฉิน"ศ.ภญ.ดร.กาญจน์พิมลในตอนท้าย
ด้าน ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน)กล่าวว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายระบบนำส่งวัคซีนของไทย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เพื่อ 1) แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรด้านระบบนำส่งวัคซีนของไทย 2) สร้างสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกเครือข่าย และ 3) เป็นแหล่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านระบบนำส่งวัคซีน เพื่อผลักดันการพัฒนางานด้านระบบนำส่งวัคซีนของไทยให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพตามวัตถุประสงค์ของเครือข่าย
"เราเห็นชอบร่วมกันจะทำงานเป็น "เครือข่าย" เนื่องจากโอกาสสำเร็จในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศจะสูงกว่าต่างคนต่างทำ การทำงานเป็นเครือข่ายจะเป็นการรวบรวมความเชี่ยวชาญที่สร้างสมจากเภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์ทั่วไทย มาผนึกเป็นแรงผลักเสริมฤทธิ์ของวัคซีนในแผนการผลิต "วาระแห่งชาติด้านวัคซีน 2554" และโร้ดแมปวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตัวแรกที่จะเริ่มภายในปีนี้ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวัคซีนแห่งชาติในระยะยาวจนเห็นผล ทั้งรูปแบบวัคซีนแปะผิวหนัง เหมือนพลาสเตอร์ยาที่คุ้นเคย และวัคซีนหยอดจมูก เพื่อความสะดวกในการรับ "วัคซีน" ในอนาคตคนรับวัคซีนไม่ต้องกลัวเข็ม พยาบาลไม่ต้องเสียเวลาฉีดกันอีกต่อไป และจะทำให้เราสามารถลดปริมาณเนื้อวัคซีน ลดต้นทุน เพิ่มกำลังผลิต ความสามารถแข่งขันไปในตัว"ดร.นพ.จรุงกล่าว