กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สร้าง"เครือข่ายคู่คิดอุตสาหกรรม" ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA: Japan International Cooperation Agency)ภายใต้ โครงการส่งเสริมกลไกการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแบบบูรณาการในระดับท้องถิ่นของประเทศไทย (Regional Integrated Small and Medium Enterprises Promotion) นำร่องพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ12 หน่วยงานพันธมิตรให้บริการปรึกษาแนะนำทุกด้านแก่ผู้ประกอบการในรูปแบบซิงเกิ้ล วินโดวส์ (Single Windows) ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีจะมีผู้ประกอบการขอรับคำแนะนำจำนวนไม่น้อยกว่า 150 ราย
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากกรุงเทพมหานคร และเป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ อีกทั้งเป็นหนึ่งในจังหวัดซูเปอร์คลัสเตอร์ ที่มีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก และมีความพร้อมด้านเส้นทางคมนาคมที่จะเชื่อมโยงไปในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจีน และประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเมียนมาร์โดยมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 93,235 ราย และ วิสาหกิจชุมชน 3,443 กลุ่ม ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 184,132ล้านบาทต่อปีด้วยจำนวนผู้ประกอบการจำนวนมากนี้ กสอ.จึงเล็งเห็นว่าจะทำอย่างไรที่จะรู้ปัญหาและสามารถแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด เพื่อให้วิสาหกิจต่างๆ ในพื้นที่สามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะเปิดบริการ "เครือข่ายคู่คิดอุตสาหกรรม" (iP: INDUSTRIAL PARTNER) เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งรายเดิมและรายใหม่ ซึ่งครอบคลุมทุกด้านในการประกอบธุรกิจ อาทิ แนวทางการเริ่มต้นธุรกิจ การวางผังโรงงานเพื่อขอรับมาตรฐาน อย. การขยายโรงงาน การหาแหล่งเงินทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับ 12 หน่วยงาน ได้ดำเนินการวางระบบนี้มาเป็นระยะเวลา 2 ปีตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พร้อมแล้วที่จะให้บริการกับ SMEs ในแบบบูรณาการจึงได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) อย่างเป็นทางการภายใต้ "โครงการส่งเสริมกลไกการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแบบบูรณาการในระดับท้องถิ่นของประเทศไทย" (Regional Integrated Small and Medium Enterprises Promotion)ซึ่งเป็นการสร้างระบบส่งเสริม SMEs ระดับท้องถิ่น ให้ตรงตามความต้องการและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ผ่านการประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรเครือข่ายให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโดยตรงแก่ผู้ประกอบการ
ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า หน่วยงานพันธมิตรทั้ง 12 แห่ง ได้แก่(1) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ (2) สถาบันบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิยาลัยแม่โจ้ (3) ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (4) ศูนย์นวัตกรรมการจัดการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (5) ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น (6)ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ (7) มหาวิทยาลัยนอร์ทจังหวัดเชียงใหม่ (8) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ (9) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ (10) บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สาขาจังหวัดเชียงใหม่ (11) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สาขาเชียงใหม่ และ (12) ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเป็นลักษณะเครือข่ายในรูปแบบซิงเกิ้ล วินโดวส์ (Single Windows)คือ การบริการแบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จากการติดต่อเพียงจุดเดียว เพื่อลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนกัน ลดความผิดพลาด อีกทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในทันที โดยจะมีการส่งต่อผู้ประกอบการไปยังหน่วยงานในเครือข่ายที่สามารถให้คำปรึกษาได้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการมากที่สุด เพราะครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม กสอ. วางแผนที่จะขยายการจัดตั้งเครือข่ายดังกล่าวไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค ทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและพร้อมต่อการแข่งขันที่อาจรุนแรงขึ้นเมื่อเปิดเสรีแห่งการค้าอย่างเต็มรูปแบบ ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอรับบริการได้ที่เคาท์เตอร์ให้บริการ (Counter Service)ณ หน่วยงานในเครือข่าย ทั้ง13 แห่ง หรือลงทะเบียนที่ www.ipchiangmai.org ทุกวันจันทร์-ศุกร์เวลา 08.30-16.30 น.ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์053245361-2 ต่อ 530หรือเข้าไปที่ http://ipc1.dip.go.th หรือhttps://www.facebook.com/dip.ipc1
และสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจโครงการต่างๆของกรมส่งเสริมเสริมอุตสาหกรรมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6กรุงเทพฯ โทรศัพท์0 2202 4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr