“คันทรีเพลส” แฟรนไชส์อาหารไทย ปี 44 เปิด 5 สาขา-เน้นทำเลห้าง

ข่าวทั่วไป Friday October 13, 2000 13:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--คันทรี เพลส กรุ๊ป
คันทรีเพลส ร้านอาหารไทยสไตล์คันทรี เตรียมเปิดขายแฟรนไชส์ในปีหน้า เริ่มด้วย 5 สาขาแรก ลดค่าแฟรนไชส์ให้ 50% ใช้งบต่อสาขาไม่เกิน 3 ล้านบาท คุ้มทุนภายในปีเดียว รายได้ 3-4 หมื่นต่อวัน เน้นลูกค้าวัยรุ่น และกลุ่มคนทำงาน เจาะทำเลบนศูนย์การค้าเป็นหลัก พร้อมเปิดสาขาสแตนด์อโลนที่รังสิต คลอง 2 คุยต้องการอุดช่องว่างทางการตลาด แก่ปัญหาอุดรูรั่วของร้านอาหารได้
นายจรัญ แย้มยิ้ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท คันทรี เพลส กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้านอาหารไทยคันทรีเพลส กล่าวกับ “เส้นทางเศรษฐกิจ” ว่า ต้นปี 2544 บริษัทจะเปิดขายสิทธิแฟรนไชส์ร้านคันทรีเพลส โดยผู้ที่สนใจลงทุน 5 รายแรก จะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย อาทิ ลดค่าแฟรนไชส์ให้ถึง 50% จากอัตราปกติ 5 แสนบาท ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาหลายรายแล้ว แต่บริษัทจะคัดเลือกผู้ที่สนใจจริง และมีใจรักในธุรกิจประเภทนี้ นอกจากนี้ จะต้องมีพื้นที่อยู่ในศูนย์การค้าด้วย ควรจะมีพื้นที่ตั้งแต่ 140-200 ตารางเมตร และควรอยู่ในกรุงเทพฯ สำหรับการตกแต่งร้าน ทางบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด
“ปัจจุบัน คันทรีเพลสมีทั้งหมด 5 สาขา แยกเป็นตั้งอยู่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต 3 สาขา, เมเจอร์รัชโยธิน 1 สาขา และโลตัส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีก 1 สาขา สาขาส่วนใหญ่จึงตั้งอยู่ในศูนย์การค้า แต่ขณะนี้ กำลังก่อสร้างสาขาที่อยู่ภายนอกศูนย์การค้า หรือสแตนด์อโลน ขึ้นมาเป็นสาขาแรก ตั้งอยู่ที่รังสิต คลอง 2 ใช้งบลงทุน 10 ล้านบาท ตกแต่งสไตล์คันทรี โดยสาขานี้จะใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทด้วย คาดว่า ในเดือนมกราคม 2544 คงจะเปิดบริการได้”
จากทั้ง 5 สาขาของคันทรีเพลส พบว่า สาขาที่ทำยอดขายสูง ล้วนเป็นสาขาที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค ทั้งสิ้น เฉลี่ยแล้วแต่ละสาขาสามารถทำยอดขายได้ 3-4 หมื่นบาทต่อวันต่อสาขา แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของร้านด้วย และสามารถคืนทุนได้ภายในปีเดียว เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัย 4 ที่ทุกคนต้องรับประทาน ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้น กลุ่มลูกค้าของคันทรีเพลส เป็นกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนทำงาน นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มธุรกิจอาหารด้วยกัน คันทรีเพลสยังค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนที่ต่ำ
นายจรัญกล่าวต่อว่า สถานที่ตั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะระบุถึงกลุ่มลูกค้าได้ด้วย อย่างสาขาที่ตั้งอยู่แบบสแตนด์อโลน กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มคนทำงานที่นิยมพบปะกันหลังเวลาเลิกงาน สาขาประเภทนี้ลงทุนค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากคันทรีเพลสมีชื่อเสียงมานานพอสมควร จึงคาดว่า จะมีลูกค้าประจำอยู่ นอกจากนั้น ชั่วโมงการขายก็จะสั้นกว่าสาขาที่เปิดในศูนย์การค้าที่สามารถขายได้ทั้งวัน และใช้เงินลงทุนน้อยกว่า
“เศรษฐกิจที่ตกต่ำเช่นช่วงนี้ ไม่กระทบต่อยอดขาย แต่กระทบต่อต้นทุนมากกว่า ส่วนที่คิดขายแฟรนไชส์ช่วงนี้ เพราะเห็นว่า ช่องว่างในตลาดยังมีอยู่ และเราก็สามารถทำได้ หลายคนอยากทำธุรกิจร้านอาหาร แต่ทำแล้วเจ๊งไปก็มีเยอะ ปัญหาของธุรกิจนี้ ส่วนใหญ่อยู่ที่พ่อครัว ถ้าเรามีระบบการจัดการปัญหานี้ได้ รายได้ก็จะไม่รั่วไหล”
สำหรับการลงทุนด้วยการซื้อสิทธิแฟรนไชส์ของคันทรีเพลสนั้น นอกจากค่าแฟรนไชส์แล้ว ยังมีค่ารอยัลตี้ฟี 5% ค่าโปรโมชั่น 3% โดยมีสัญญา 3 ปี อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมค่าล่วงหน้าในการเช่าพื้นที่จากศูนย์การค้าแล้ว ก็ใช้งบในการลงทุนไม่เกิน 3 ล้านบาท ส่วนจุดเด่นของแฟรนไชส์คันทรีเพลสนั้น คือรสชาติของอาหาร จะเป็นรสชาติเดียวกันในทุกสาขา นอกจากนั้น ยังมีสไตล์การตกแต่งร้านที่เหมือนกัน และคันทรีเพลสยังสามารถติดต่อกับค่ายเบียร์ได้ทุกค่ายที่ผลิตในเมืองไทย
นอกจากบริษัทคันทรีเพลส จะมีร้านอาหารไทยคันทรีเพลสอยู่ถึง 5 สาขาแล้ว ยังมีผับ “ที่นี่เมืองไทย” ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต และร้านอาหาร “ปากมาก” เป็นร้านสไตล์วัยรุ่น ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเดียวกัน รวมทั้งธุรกิจอื่นอีก อาทิ ร้านทำผมสตรี เดอะ คันทรี คลับ ร้านทำผมบุรุษ เมืองไทยบาร์เบอร์ โดย 2 ร้านตั้งอยู่ที่ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต เช่นเดียวกัน และร้านทำผมแจ๊ส ตั้งอยู่ที่ตลาดรังสิต--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ