กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--มาสเตอร์โพล
ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน มาสเตอร์โพล (Master Poll)เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ข่าวอะไรสร้างสุข ข่าวอะไรสร้างความกังวลในใจแกนนำชุมชน
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล(Master Poll) เรื่อง ข่าวอะไรสร้างสุข ข่าวอะไรสร้างความกังวลในใจแกนนำชุมชนกรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น1,007ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศดำเนินโครงการในวันที่ 16 - 31ตุลาคม2558ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึง ข่าวสร้างสุขในใจของแกนนำชุมชน พบว่า ร้อยละ 45.1 ระบุข่าวจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือประชาชน รองลงไปคือ ร้อยละ 21.2 ระบุข่าวความสงบสุขของบ้านเมือง ร้อยละ15.9 ระบุข่าวรัฐบาลดี นายกฯ ดี ร้อยละ 9.9 ระบุการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 8.6 ระบุการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ร้อยละ 7.3 ระบุข่าวโครงการช่วยเหลือเกษตรกร และร้อยละ 6.1 ระบุข่าวการเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญรองๆ ลงไปคือ ข่าวความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศ ความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ข่าวเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ข่าวปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่า ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงข่าวสร้างความกังวลในใจของแกนนำชุมชน พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 42.1ระบุข่าวการร่างรัฐธรรมนูญ รองลงมาคือร้อยละ 25.3 ระบุ ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 10.6 ระบุการเตรียมการรับมือภัยแล้ง ร้อยละ 7.7 ระบุ ความขัดแย้งในสังคม ร้อยละ 7.0 ระบุข่าวการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ร้อยละ 6.2 ระบุข่าวแก้ปัญหาค้ามนุษย์ และร้อยละ 10.8 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ข่าวหนี้นอกระบบ และ ข่าวแก้ปัญหายาเสพติด เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ เมื่อวิเคราะห์แกนนำชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศต่อ สิ่งที่รัฐบาลและ คสช. ทำได้ดีกว่ารัฐบาลชุดก่อน พบว่า ในทุกภาคยกเว้นภาคใต้ แกนนำชุมชนส่วนใหญ่ ระบุความสงบเรียบร้อยของชาติ เป็นสิ่งที่รัฐบาล และ คสช. ทำได้ดีกว่ารัฐบาลชุดก่อน คือร้อยละ 78.3 ในภาคเหนือ ร้อยละ 77.2 ในภาคกลาง ร้อยละ 77.1 ในภาคอีสาน และร้อยละ 73.3 ในกรุงเทพมหานคร ระบุ ความสงบเรียบร้อยของชาติเป็นผลงานของรัฐบาลและ คสช. ดีกว่ารัฐบาลชุดก่อน ในขณะที่แกนนำชุมชนในภาคใต้มีอยู่ร้อยละ 65.1 ตามลำดับ นอกจากนี้ แกนนำชุมชนส่วนใหญ่ในทุกภาค ระบุ ความเชื่อมั่นและการยอมรับของประชาชน เป็นผลงานที่รัฐบาลและ คสช. ทำได้ดีกว่ารัฐบาลชุดก่อน รวมไปถึงเรื่อง การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การบริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตคือ แกนนำชุมชนในกรุงเทพมหานคร เพียงร้อยละ 40.0 ที่ระบุ ความเข้มแข็งขององค์กรปกครองท้องถิ่น และการบริการอย่างทั่วถึงเป็นธรรม เป็นสิ่งที่รัฐบาลและ คสช. ทำได้ดีกว่ารัฐบาลชุดก่อน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าทุกภูมิภาคของประเทศ
ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ กล่าวว่า ถึงเวลาหรือยังที่ข้อมูลข่าวสารในสังคมจะช่วยกันชี้ให้เห็นความชัดเจนถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้ามากกว่าข่าวสารที่ทำให้คนทั้งประเทศเกิดความกังวลไม่แน่ใจว่าประเทศชาติจะไปทางไหน การกำหนดกรอบของข้อมูลข่าวสารในสังคม (Issue Framing) ให้เป็นเรื่องยุทธศาสตร์และนโยบายที่สาธารณชนได้ประโยชน์จึงเป็นเรื่องจำเป็นด้านจิตวิทยาเพื่อกระตุ้นพลังขับเคลื่อนประเทศอย่างแท้จริงมากกว่า ข้อถกเถียงว่ารัฐบาลจะอยู่นานแค่ไหน จะสืบทอดอำนาจหรือไม่ เพราะคำถามที่นำไปสู่ความไม่แน่นอน ความเคลือบแคลงสงสัย นำไปสู่ความยากลำบากในการขับเคลื่อนประเทศ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของชาติที่ความมั่นคงต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใดแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก้าวแรกของประเทศเหล่านั้นคือ ความมั่นคงอยู่เหนือสิ่งอื่นใดเกือบทั้งสิ้น