กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--กรมประมง
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมพะยูน กรมประมง ได้จัดการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ครั้งที่ 2/2558 โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการห้องเย็น และตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือเพื่อถกหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งพยุงราคา หลังประสบกับปัญหาราคากุ้งตกต่ำจากการฟื้นตัวของโรคตายด่วน (EMS)
ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย เปิดเผยว่า เนื่องด้วยขณะนี้สถานการณ์โรคตายด่วน (EMS) เริ่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น จึงทำให้กำลังการผลิตกุ้งทะเลของเกษตรกรทั่วประเทศเพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยผลผลิตกุ้งทะเลในปี 2558 (มกราคม – กันยายน) มีปริมาณเพิ่มขึ้น 17.22 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน ประกอบกับในระหว่างนี้มีการพักออเดอร์ของคู่ค้าที่สำคัญ ๆ จึงทำให้ผู้ประกอบการห้องเย็นต้องชะลอการสั่งซื้อกุ้งจากเกษตรกร ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลเริ่มตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการร้องขอให้ภาครัฐพิจารณาความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน
โดยผลจากการประชุมดังกล่าวได้มีมติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพื่อร่วมหารือกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในระหว่างนี้จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์ปัญหาตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมกุ้งเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความชัดเจนและตรงประเด็นยิ่งขึ้น โดยให้มีผู้แทนของกรมประมง ผู้แทนสำนักเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการห้องเย็น และผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ร่วมเป็นคณะทำงาน
นอกจากนี้ กรมประมงได้ดำเนินการเสนอโครงการ "ปรับโครงสร้างระบบการเลี้ยงเพื่อพลิกฟื้นการผลิตกุ้งและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน" ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก็จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย ®