กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--หอการค้าไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนุนรัฐบาลเร่งเครื่องผ่านกฎหมายปฏิรูปภาษีสรรพสามิต-ศุลกากร-สรรพากรผ่านเวทีสัมมนา "ขับเคลื่อนปฏิรูปภาษี : เอกชนมีส่วนร่วม" โดยมี ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมเร่งรัดการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอย่างจริงจัง วอนคลังเร่งผลักดันสานต่อการปฏิรูปภาษีให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในอนาคต
ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการภาษี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนาในหัวข้อ "ขับเคลื่อนปฏิรูปภาษี : เอกชนมีส่วนร่วม" ว่า "มาตรการด้านภาษีถือเป็นนโยบายหนึ่งในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญ ทั้งในแง่การจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย การเสริมสร้างธรรมาภิบาล และยกระดับมาตรฐานระบบภาษีให้เป็นสากล รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและเป็นไปตามโรดแมปของรัฐบาลในความพยายามลดความเลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการคลัง ซึ่งกำกับดูแล3 กรมภาษีหลัก ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรมสรรพากร ก็ได้มีความพยายามในการดำเนินการปฏิรูปภาษีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งหลายเรื่องสอดคล้องกับความเห็นของภาคเอกชนและประชาชน"
"จากงานวิจัยของสถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้ทำการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไปก่อนหน้านี้ โดยมุ่งไปที่การปฏิบัติตามหลักพื้นฐานของภาษีที่ดี ซึ่งสภาหอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่อง ความโปร่งใส (Transparency) ความง่ายในการปฏิบัติ (Simplicity) หลักการรายได้คงเดิม (Revenue Neutrality) และหลักการมีส่วนร่วม (Participation) ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการบริหารประเทศอย่างยั่งยืนระยะยาว"
ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างภาษีไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนการออกกฎหมาย เช่น ร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต และร่าง พ.ร.บ. ศุลกากร ซึ่งมีมากกว่า 200 มาตรา โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา ในส่วนของกรมสรรพากรอยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนงาน "ทางสภาหอฯ และสมาชิกภาคเอกชนเล็งเห็นประโยชน์ที่รัฐจะได้จากการปฏิรูปโครงสร้างของภาษีทั้งสามตัวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ จึงขอวิงวอนให้ภาครัฐพิจารณาเร่งรัดการปฏิรูปภาษีสรรพสามิต และศุลกากร ตามแนวทางที่ครม. อนุมัติ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายภาษีเหล่านี้ได้ในเร็ววัน และจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนการค้าและการลงทุนในประเทศไทยท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอีกด้วย" ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ฯ กล่าวปิดท้าย