กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--a Publicist
กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยความคืบหน้าการจัด "งานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12" มีไปกว่า 60%สมาคมกล้วยไม้ต่างๆ ในไทยผนึกกำลังชวนเกษตรกร ผู้ค้า และผู้ประกอบการ ร่วมงานอย่างคับคั่ง ขณะเดียวกันนานาชาติแสดงความจำนงเข้าร่วมงานกว่า 15 ประเทศ และเพื่อส่งเสริมด้านการให้ความรู้เพื่อพัฒนาวงการกล้วยไม้ไทย กรมวิชาการเกษตรยังได้เปิดลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมวิชาการร่วมกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับโลก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้การเตรียมจัด "งานประชุมกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 12" หรือ The 12th Asia Pacific Orchid Conference (APOC 12) ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19-27 มีนาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด Orchids and Human Beings หรือ กล้วยไม้แห่งมวลมนุษยชาติซึ่งนับเป็นการจัดงานกล้วยไม้ระดับนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 20 ปีมีความคืบหน้าไปกว่า 60%แล้ว โดยเฉพาะในส่วนของการผนึกกำลังกันระหว่างสมาคมกล้วยไม้ต่างๆ ในไทย อาทิ สมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย สมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยและสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย และต่างนำสมาชิกเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
"สมาคมและผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ในประเทศไทย ต่างนำสมาชิกเข้าร่วมแสดงพลังในฐานะเจ้าภาพการจัดงานอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมส่งพันธุ์กล้วยไม้เข้าประกวดประเภทต่างๆได้แก่ การประกวดจัดสวนกล้วยไม้ การประกวดกล้วยไม้ต้น กล้วยไม้ตัดดอก การแข่งขันศิลปะการจัดดอกไม้ การประกวดผลงานศิลปะ รวมถึงการร่วมประชุมวิชาการ การส่งผลงานวิชาการ การจัดนิทรรศการวิชาการ การออกคูหาจำหน่ายสินค้า มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมแล้วกว่า 40 ราย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ หน่วยงาน และสมาคมกล้วยไม้จากต่างประเทศก็มีตอบรับเข้าร่วมงานแล้วกว่า 15 ประเทศ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ สิงคโปร์ เปรู ออสเตรเลีย เยอรมัน ฮ่องกง เวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย เดนมาร์กนับเป็นโอกาสดีของคนไทยและผู้เข้าร่วมงานที่จะได้ชมความงดงามและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ ของวงการกล้วยไม้ ทั้งจากประเทศที่ขึ้นชื่ออย่างไต้หวันและญี่ปุ่น หรือประเทศที่เราไม่ควรพลาดที่จะชมความงดงามของกล้วยไม้อย่างเนเธอร์แลนด์ ซึ่งการตอบรับที่ดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจภายในงานที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า" นายสมชาย กล่าว
สำหรับส่วนของงานประชุมวิชาการซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 19-21 มีนาคม 2559 นั้น ได้รับเกียรติจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิในวงการกล้วยไม้ระดับโลกมาร่วมเป็นผู้บรรยายพิเศษ (Keynote Speaker) 3 ท่าน ได้แก่ ศ.ระพี สาคริก ที่จะให้ข้อมูลความรู้ในหัวข้อ "กล้วยไม้พันธุ์ธรรมชาติ ที่ยังคงเหลืออยู่ในป่า" (A single Orchid Plant remaining in the Forest) และ มร.โยชิฮิโร ฮานาชิโร (Mr.Yoshihiro Hanashiro) ประธาน Okinawa Churashima Foundation และประธานการจัดงาน Okinawa International Orchid Show ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนากล้วยไม้อย่างยั่งยืนในเกาะ โอกินาวา กล่าวในหัวข้อ "กล้วยไม้ป่าของโอกินาวาและแนวทางการอนุรักษ์" (The wild orchids of Okinawa and their conservation) และ มร.เอส เอส เชน (Mr.S.S.Chen) ประธานกิตติมศักดิ์ของ Taiwan Orchid Growers Association บรรยายเรื่อง "การอนุรักษ์และการพัฒนากล้วยไม้ในไต้หวัน" พร้อมด้วยวิทยากรรับเชิญอีก 14 ท่าน จาก 10 ประเทศ อาทิ มร.บิล ทอมส์ (Mr.Bill Thoms) ผู้เชี่ยวชาญกล้วยไม้ด้านการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุล Bulbophyllum จากประเทศสหรัฐอเมริกา, มร.โฮเซ่ เปเป ปอร์ติล่า (Mr.Jose Pepe Portilla) จากเอกวาดอร์ นักธุรกิจและนักอนุรักษ์กล้วยไม้พันธุ์แท้ของเอควาดอร์ และ Mr. Michael H.C. Ooi เจ้าของสวนพฤกษศาสตร์ในมาเลเซียมีความเชี่ยวชาญกล้วยไม้พันธุ์แท้สกุล Phalaenopsis และ Dr.WenHuei Chen นักวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพ จากไต้หวัน ที่จะร่วมบรรยายในหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วย : การอนุรักษ์กล้วยไม้ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้ป่า(Orchid conservation (taxonomy, wild species)), การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ (ปรับปรุงพันธุ์, เทคโนโลยีชีวภาพ, นวัตกรรม) (Crop improvement (breeding, conventional, biotechnology, innovation induction)),การเขตกรรม อารักขาพืช และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว (การขยายพันธุ์พืช, วัสดุปลูก, สรีรวิทยาพืช, การจัดการศัตรูพืช และการปฏิบัติเกษตรกรรม) (Cultivation, Plant protection and Post – harvest technology (propagation, media, physiology, pest-control, cultural practice)),การตลาดและการเพิ่มมูลค่าสินค้า (Marketing and value – added) และ การศึกษา และงานอดิเรกเกี่ยวกับกล้วยไม้ (Education and others (human being, hobbies)) โดยกรมวิชาการเกษตรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ได้อย่างแพร่หลาย จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั้งนักวิชาการ เกษตรกร นักวิจัย ผู้ประกอบการด้านกล้วยไม้ ทั้งในและต่างประเทศและผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อสำรองที่นั่งเข้ารับฟังได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มลงทะเบียนได้ทาง http://www.apoc12.com ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมแสดงในงาน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0 2790 3888 ต่อ 1545 หรืออีเมลล์ apoc2016@yahoo.comโดยติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดงานได้ทาง http://www.apoc12.com
เกี่ยวกับ APOC 12
การประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Orchid Conference) มีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ และพัฒนากล้วยไม้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยจัดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2527 ที่ประเทศญี่ปุ่น และจัดให้มีการประชุมขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยประเทศสมาชิกจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพการจัดงานครั้งที่ 4 ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2535 ซึ่งความสำเร็จจากการจัดงานดังกล่าวทำให้ วงการกล้วยไม้ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลกต่างมีการเติบโตและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการปลูก การวิจัยและพัฒนา และด้านการตลาด ดังนั้น ในปี 2553 ศ.ระพี สาคริก ที่ปรึกษาด้านไม้ดอกไม้ประดับของกรมวิชาการเกษตรได้ให้ความเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสัมมนากล้วยไม้อีกครั้งหนึ่งกรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 12 และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ APOC ให้เป็นเจ้าภาพ จึงกำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 มีนาคม ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด Orchids and Human Beings หรือ กล้วยไม้แห่งมวลมนุษยชาติ
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการประชุมวิชาการกล้วยไม้นานาชาติ การประชุมวิชาการและ ทัศนศึกษา การแสดงนิทรรศการวิชาการ การฝึกอบรม การจัดแสดงและประกวดกล้วยไม้ อาทิ การจัดสวนกล้วยไม้/กล้วยไม้ต้น/กล้วยไม้ตัดดอกศิลปะการจัดดอกไม้ การออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน พืชอนุรักษ์ การจัดแสดงและประกวดศิลปะจากกล้วยไม้ ภาพวาด ภาพถ่าย การออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน พืชอนุรักษ์ กิจกรรมและผลงานของเยาวชน รวมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังมี การจำหน่ายกล้วยไม้นานาชนิด สินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึก กิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทย
งานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 12 ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือในการจัดงานจากภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นต้น