นักวิชาการชี้แนวทางแก้ปัญหากระจายอำนาจสู่องค์กรท้องถิ่น ควรให้ อบต. เป็นฝ่ายดูแลมาตรฐานและกำหนดนโยบาย

ข่าวทั่วไป Monday July 2, 2001 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
ดร.จรัส สุวรรณมาลา ผู้อำนวยการวิทยาลัยการปกครองส่วนพัฒนาท้องถิ่น เปิดเผยว่า บทบาทขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคตจะมีมากขึ้นในการรองรับการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยและพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ พ.ศ. 2542
ทั้งนี้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต. หรือเทศบาลต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารจัดการเองทั้งหมด อาทิ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันยังมีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานท้องถิ่น และมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพความสามารถในการบริหารจัดการของ อบต.
"ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนที่ อบต.จะต้องรับโอนจากหน่วยงานส่วนกลาง โรงเรียนควรจะต้องมีความเป็นอิสระจาก อบต. โดยที่ อบต. ไม่จำเป็นต้องเข้าไปบริหารจัดการ แต่สามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการโรงเรียน ร่วมกำหนดนโยบาย มาตรฐานการเรียนการสอน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียน ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณให้โปร่งใส เพราะ อบต. เป็นเหมือนผู้แทนของผู้ใช้บริการ สะท้อนภาพว่าประชาชนคิดอย่างไรกับโรงเรียน"
ปัจจุบันภารกิจในการจัดบริการของ อบต. หน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ มีกิจกรรมเป็นจำนวน ในแง่ประสิทธิภาพของการให้บริการ จะสามารถทำได้ดี เช่น การส่งเสริมอาชีพ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการอาหารกลางวัน แต่ในกิจกรรมขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณูปโภค เช่น การจัดการขยะ การปรับปรุงถนน ฯลฯ หน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต. ยังขาดความรู้ประสบการณ์ งบประมาณที่จะมาสนับสนุน บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจะทำให้ประสบปัญหาเรื่องการจ้างบุคลากร ควรที่ใช้รูปแบบของการจัดบริการร่วม หรือให้หน่วยงานที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว เช่น กรมโยธาธิการ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท เป็นรับช่วงผู้ดำเนินการแทน
แม้ว่ารัฐบาลจะได้ให้การสนับสนุนด้านบุคลากร เฉพาะด้าน อาทิ ด้านบัญชี ด้านการบริหารจัดการ และบุคลากรด้านช่าง ในโครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น 12 เดือนเท่านั้น แม้ว่าจะมีส่วนช่วยให้ อบต. ต่างๆ สามารถจัดทำงบประมาณเป็น มีการวางแผนการบริหารจัดการ แต่ตัวที่จะชี้วัดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ ทำอย่างไรในการจัดบริการให้ชาวบ้านพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ โครงสร้างของ สภา อบต. ควรจะประกอบด้วยตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้ามีส่วนร่วม ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูงๆ อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มคนหนุ่ม-สาว เนื่องจากบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่เข้าใจและรับรู้ปัญหา สามารถสะท้อนภาพและสื่อได้ถึงความต้องการของชุมชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
"ชาวบ้านจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเลือกผู้นำท้องถิ่นที่ตรงกับใจตนที่สุด สามารถเข้าใจปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งการเลือกตั้ง อบต. ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้จะเป็นบทพิสูจน์ได้ ว่าเขาอยากได้ผู้นำการเมืองท้องถิ่นแบบไหน"
ขอขอบคุณในการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์รายละเอียดเพิ่มเติม
โปรดติดต่อศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.คุณสุภาพร หวานเสนาะ
คุณสร้อยนภา สงฆ์โนนเหล็กโทร. 279-8001, 616-2214-5--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ